นักวิจัยพบว่าคนเรารู้สึกดีกับการพูดคุยบอกเล่าปัญหาส่วนตัวกับหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งนี่อาจเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ให้เป็นนักจิตบำบัดได้ในอนาคต
นักวิจัยจากสถาบันจิตวิทยา มหาวิทยาลัยพลิมัท ในอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาที่ทดสอบว่า หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ NAO (นาว) จะสามารถใช้เทคนิค Motivation interview หรือการสนทนาเพื่อสร้างแรงจูงใจ ในการส่งเสริมให้ผู้รับคำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้หรือไม่ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้สนทนากับ NAO ลงความเห็นว่า การรับคำปรึกษาจากหุ่นยนต์ช่วยได้มาก และยังเพลิดเพลินอีกด้วย ซึ่งการสนทนาบางรอบก็กินเวลาไปนับชั่วโมง
ศาสตราจารย์แจ็กกี้ แอนเดรด (Jackie Andrade) หัวหน้าทีมนักวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างสามารถปรับตัวและเล่าเรื่องส่วนตัวให้หุ่นยนต์ฟังได้อย่างง่ายดาย แม้ว่านี่อาจดูเป็นเรื่องที่ประหลาดสักหน่อย โดยหุ่นยนต์ที่นำมาใช้นั้นถูกโปรแกรมชุดคำพูดไว้ล่วงหน้าแล้ว และจะไม่พูดแทรกคู่สนทนา จึงทำให้คู่สนทนาไม่รู้สึกว่าถูกตัดสินไปก่อน หรือมองว่าอีกฝ่ายมีอคติ แบบที่มักรู้สึกจากการพูดคุยกับนักจิตบำบัดที่เป็นมนุษย์ จนเกิดเป็นข้อสรุปว่าหุ่นยนต์น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะมาทำหน้าที่เป็นนักจิตบำบัด หรือให้คำปรึกษาในเรื่องที่ละเอียดอ่อนได้ในอนาคต และหลังจากนี้ ทีมวิจัยหวังจะศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกต่อไป
การนำหุ่นยนต์มาให้คำปรึกษาเริ่มเป็นที่แพร่หลายในระยะหลัง โดยหนึ่งในนั้นเป็นการใช้ 'แชตบอต' หรือหุ่นยนต์ตอบข้อความอัตโนมัติ มาให้คำปรึกษากับผู้ลี้ภัยที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งได้รับบาดแผลในใจจากสงครามกลางเมืองในซีเรียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยหุ่นยนตร์ดังกล่าวมีชื่อว่า 'การิม (Karim)' ออกแบบโดย X2AI ทีมสตาร์ตอัปจากซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งหลังทำการทดสอบกับชาวซีเรีย 60 คน ผลที่ได���ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ดีเท่าที่ควร