งานวิจัยล่าสุดของสหรัฐอเมริการะบุว่า คนที่ตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่าวันนั้นจะมีเรื่องให้เครียดทั้งวัน จะส่งผลเสียต่อระบบการเรียนรู้ของสมองไม่น้อย
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต รัฐเพนซิลเวเนีย สำรวจพฤติกรรมของอาสาสมัครที่เป็นผู้ใหญ่รวม 240 คน และคอยติดตามผลตลอดเวลาสองสัปดาห์ โดยตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสารชราภาพวิทยา Journals of Gerontology: Psychological Sciences
ระหว่างนั้นผู้ร่วมทดสอบจะต้องตอบคำถามวันละเจ็ดครั้งผ่านแอปพลิเคชันทางสมาร์ตโฟน โดยมีคำถามในตอนเช้าว่า คุณคิดว่าวันนี้จะมีเรื่องเครียดไหม ซึ่งในระหว่างวันจะถามถึงระดับความเครียดของแต่ละคน ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำถามยามดึกที่ว่า คุณคิดว่าวันพรุ่งนี้จะมีเรื่องเครียดไหม นอกจากนั้น อาสาสมัครยังเข้ารับการทดสอบ Working memory หรือความทรงจำขณะทำงาน ซึ่งเป็นความจำระยะสั้นที่ใช้ในการจัดการข้อมูลในสมอง รวมวันละห้าครั้ง
ผลที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า ถ้าผู้ร่วมทดสอบตื่นขึ้นมาพร้อมความรู้สึกว่าวันนั้นจะมีเรื่องเครียด ความทรงจำขณะทำงานก็จะทำงานช้าลงในวันนั้น แม้ว่าความจริงแล้วอาจไม่มีเรื่องเครียดเกิดขึ้นจริงเลยก็ตาม ขณะเดียวกัน หากผู้ร่วมทดสอบคาดว่าวันถัดไปจะมีเรื่องเครียด จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อความทรงจำขณะทำงาน
มาร์ติน สลิวินสกี (Martin Sliwinski) ที่ร่วมวิจัยในโครงการนี้ มองว่า การศึกษานี้เป็นการยืนยันว่ามุมมองที่แต่ละคนมีต่อโลกล้วนส่งผลกับชีวิตประจำวัน เพราะความทรงจำขณะทำงานที่ลดลงนั้นจะส่งผลให้ทำงานพลาดมากขึ้น หรือขาดสมาธิในการทำงาน โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับความจำ ก็อาจทำให้ลืมกินยา หรืออาจทำอะไรพลาดขณะขับรถ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมา
ทีมวิจัยแนะนำว่า หากตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าวันนั้นต้องมีเรื่องเครียด อาจลองตั้งระบบเตือนในโทรศัพท์ให้ผ่อนคลายด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ ก่อนจะเริ่มวันใหม่ หรือถ้าความจำเริ่มส่อเค้าว่ามีปัญหา อาจจะลองติดข้อความไว้สักที่ว่า ไม่ควรขับรถในช่วงนี้