การนำขยะไปแปรรูปเป็นพลังงานเป็นสิ่งที่ทำกันอย่างแพร่หลายในยุโรป แต่ล่าสุดกำลังจะเกิดโครงการในลักษณะเดียวกันนี้แห่งแรกในแอฟริกา ที่คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานให้กับเมืองได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการพลังงานทั้งหมด
โครงการเรปปี เวสต์-ทู-เอเนอร์จี (The Reppie Waste-to-Energy Project) ในกรุงอาดดิสอาบาบา ของเอธิโอเปีย เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2014 โดยตั้งเป้าจะแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานในครัวเรือนสำหรับเมืองหลวงแห่งนี้ให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์จากความต้องการใช้พลังงานทั้งหมด ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนต้องผ่านมาตรฐานการรับรองเทียบเท่าในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีบำบัดไอเสียที่ทันสมัย เพื่อลดการปล่อยโลหะหนักและไดออกซินจากการเผาไหม้ลงด้วย
ด้านสื่อใหญ่จากอังกฤษอย่างบีบีซี รายงานว่า โรงผลิตไฟฟ้าจากขยะแห่งนี้จะกำจัดขยะได้ปีละ 400,000 ตัน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 1.2 ล้านตัน ในการผลิตพลังงานสะอาด 185 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง และจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง ตั้งแต่ในระดับปฏิบัติการในโรงงาน ไปจนถึงกลุ่มคนเก็บขยะในแหล่งต่าง ๆ
โรงไฟฟ้าแห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลเอธิโอเปีย บริษัทจัดการพลังงานสะอาด 'เคมบริดจ์ อินดัสตรีส์' (Cambridge Industries) และบริษัทวิศวกรรมภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีน 'ไชนา เนชันนัล อิเล็กทริก เอ็นจิเนียริง' (China National Electric Engineering) รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม 'แรมโบลล์' (Ramboll) จากเดนมาร์ก โดยน่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ภายในช่วงต้นปีนี้