อีลอน มัสก์ นำเสนอชิปคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ติดกับสายสื่อประสาทบางเฉียบ เชื่อมเข้ากับสมองมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์อัจฉริยะ เปิดความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับสมอง เพื่อการทำความเข้าใจสมอง เป็นเครื่องมือรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางประสาท หรืออาจเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษยชาติ
คืนวันที่ 16 กรกฎาคม ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของนิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทลับของเขาซึ่งก่อตั้งในปี 2017 อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา ชี้ว่า ขีดจำกัดของมนุษย์คือความเร็วในการส่งข้อมูลที่มีอยู่จำกัด แต่ด้วยการพัฒนาส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า Brain-computer Interface มนุษย์จะไม่ถูกปัญญาประดิษฐ์ทิ้งไว้ข้างหลัง แต่จะพัฒนาไปด้วยกันและอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกับเอไอได้อย่างยั่งยืน
ความก้าวหน้าครั้งใหญ่ที่นิวรัลลิงก์นำเสนอ คือการพัฒนา 'สายสื่อประสาท' ที่ถักทอจากขั้วไฟฟ้าสำหรับเชื่อมกับชิปที่ฝังในกะโหลก ซึ่งทางนิวรัลลิงก์ชี้ว่า มั่นคงพอที่ผ่านเนื้อเยื่อสมองเข้าไปได้ ทนต่อการเสื่อม และอ่อนพอที่จะไม่ทำให้เนื้อเยื้อสมองฉีกขาด จากเดิมที่ใช้ขั้วไฟฟ้าในรูปของเข็มฝังในสมอง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขณะฝังและเสื่อมสมรรถภาพลงตามกาลเวลา
สายสื่อประสาทนี้มีขนาดเล็กอย่างยิ่งราว 4-6 ไมโครเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กราว 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ นับเป็นเทคโนโลยีที่เปิดความเป็นไปได้ที่จะถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากระหว่างชิปกับสมองและส่งไปยังส่งไปยังคอมพิวเตอร์ได้ โดยในปัจจุบันสายสื่อประสาทนี้ทำงานร่วมกับชิปในศีรษะซึ่งขยายสัญญาณจากสมองและอ่านข้อมูลผ่านพอร์ตยูเอสบี แต่ทางบริษัทตั้งเป้าหมายให้ทำงานได้แบบไร้สายในอนาคต ระบบของนิวรัลลิงก์รับรองขั้วไฟฟ้ามากถึง 3,072 ขั้ว กระจายอยู่ทั่วสายสื่อประสาท 96 สาย เชื่อมกับชิปในศีรษะ
นิวรัลลิงก์ ยังเปิดตัวหุ่นยนต์ศัลยกรรมที่มีความแม่นยำพอจะฝังสายสื่อประสาทขนาดเล็กนี้เข้าไปในเนื้อเยื่อสมองได้โดยไม่สร้างความเสียหายต่อเส้นเลือด โดยในเอกสารของนิวรัลลิงก์ชี้ว่าหุ่นยนต์นี้สามารถฝังสายสื่อประสาทได้ 6 สายต่อนาที ซึ่งเป็นสายสื่อประสาทที่มีขั้วไฟฟ้ามากถึง 192 ขั้ว นอกจากนั้นนิวรัลลิงก์ยังระบุด้วยว่า จากการทดสอบ หุ่นยนต์ศัลยกรรมนี้สามารถผ่าตัดสัตว์ไปแล้ว 19 ครั้ง และประสบความสำเร็จมากถึง 87 เปอร์เซ็นต์
ในระยะยาว นิวรัลลิงก์กำลังหาทางทำให้มนุษย์มีชีวิตพึ่งพาอาศัยร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้ สำหรับเป้าหมายในปัจจุบันคือการพัฒนาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้หุ่นยนต์ของนิวรัลลิงก์ที่ทำหน้าที่คล้ายเครื่องเย็บผ้า ซึ่งในช่วงถาม-ตอบของการนำเสนอ มัสก์ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ระบุว่า "ลิงก์ตัวหนึ่งสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยสมองได้แล้ว"
แม็กซ์ โฮดัก ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของนิวรัลลิงก์ กล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ว่า เชื่อว่าในทางทฤษฎีแล้ว เทคโนโลยีของนิวรัลลิงก์จะสามารถใช้ทางการแพทย์ได้เร็ว ๆ นี้ โดยรวมถึงการประยุกต์ใช้ให้ผู้พิการสามารถขยับอวัยวะผ่านอวัยวะเทียม ทำให้กลับมามองเห็น ได้ยิน หรือรู้สึกได้อีกครั้ง โฮดักหวังว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ภายในปีหน้า
กระบวนการต่าง ๆ อาจมีการร่วมมือกับศัลยแพทย์ระบบประสาทจากสแตนฟอร์ดหรือสถาบันอื่น ๆ ทั้งนี้ ทางบริษัทยังไม่ได้เริ่มกระบวนการขออนุญาตทดสอบในมนุษย์กับองค์การอาหารและยา อย่างไรก็ตาม โฮดัก ชี้ว่า ในปัจจุบันยังต้องใช้ยาชาและการเจาะกะโหลกด้วยสว่านในการผ่าตัดอยู่ แต่ว่าโฮดักหวังว่าในที่สุดแล้วจะเปลี่ยนไปใช้เลเซอร์แทน
อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอของบริษัทนิวรัลลิงก์ และเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนส่วนใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,090 ล้านบาท จากทั้งหมด 158 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,880 ล้านบาท ซึ่งระดมทุนจากซีอีโอสเปซเอ็กซ์และเทสลา นิวรัลลิงก์มีพนักงาน 90 คน และกำลังต้องการพนักงานเพิ่ม โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการเปิดตัวเทคโนโลยีครั้งนี้ ก็เพื่อรับสมัครคนมาพัฒนาเทคโนโลยีของนิวรัลลิงก์ด้วย
นิวรัลลิงก์เป็นเพียงโปรเจ็กใหญ่ล่าสุดชิ้นหนึ่งของ อีลอน มัสก์ เท่านั้น แต่ในเรื่องของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์เทสลานั้นก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เขาได้เดินหน้าพัฒนาเทสลาอย่างต่อเนื่องแม้จะเจอกับอุปสรรคมากมายระหว่างทาง ซึ่งขณะที่ซีอีโอแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ มุ่งเน้นการทำกำไรเป็นหลัก หนึ่งในวิธีที่แตกต่างในการยกระดับคุณภาพของรถยนต์ไฟฟ้าของมัสก์ คือ การมุ่งเน้นพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม พร้อมกับเดินหน้าผลักดันให้บริษัทคู่แข่งหันมาเอาใจใส่เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าด้วย จนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุด ผู้นำเทสลาให้สัมภาษณ์กับสื่อดังอย่าง Motor Trend ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเทสลาและรถยนต์ทุกรุ่นที่เขาตั้งในพัฒนาก็คือรถยนต์จากเทสลาไม่ได้ถูกพัฒออกแบบมาจากองค์กรที่ 'ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ' เพราะเทสลาไม่มีนโนบายออกแบบรถโดยอิงจากเพียงแค่งานวิจัยทางการตลาดหรือเอกสารงบการเงิน แต่เทสลาเลือกที่จะออกแบบรถที่ถูกใจและทำให้แม้แต่ตัวผู้ผลิตเองก็ต้องรู้สึกหลงรักไปด้วย ตรงกันข้ามกับหลายบริษัทที่มัวแต่ตั้งคำถามว่าทำไมรถยนต์ของพวกเขาจึงขายไม่ออก นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาออกแบบรถที่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณตั้งแต่แรกนั่นเอง
นอกจากนั้น อีลอน มัสก์ ยังได้กล่าวแสดงความผิดหวังในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกโดยรวมในบทสัมภาษณ์ ระบุว่าถือเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่เพิ่งจะมีการแข่งขันกันอย่างชัดเจนเกิดขึ้นในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับรุ่น Model S ของเทสลาที่มัสก์เองเชื่อว่าควรมีมาตั้งนานแล้ว เพราะรถยนต์รุ่นนี้ถูกเปิดตัวออกมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งในเวลานั้นผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ยังยึดมั่นในความเชื่อแบบเก่า ต่างพากันพูดว่า รถยนต์แบบ Model S นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้วงการสื่อก็ต่างพากันนำเสนอแนวคิดนั้นไปเป็นวงกว้าง
แต่หลังจากที่เทสลาประสบความสำเร็จในการผลิตแล้วส่งมอบ Model S ให้กับลูกค้า พร้อมการการันตีด้านความปลอดภัยสูงสุดจากทางการ เขาเชื่อว่าภายใน 3 ปี เทสลาจะต้องเจอกับคู่แข่งที่จ้องจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาให้ดีว่าเทสลาอย่างแน่นอน แต่นั่นก็ไม่เป็นความจริง เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่งจะมาตื่นตัวกันอย่างจริงจังช่วงปี 2014-2015 ที่ผ่านมานี้เอง