ภาคประชาชนเรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง พร้อมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้เข้ามาดูแลสิทธิเด็ก หลังจากถูกคุกคามบนเวทีปราศรัยด้วยถ้อยคำหยาบคาย และข่มขู่หวังเอาชีวิตในสังคมออนไลน์ รวมทั้งการเสียชีวิตของเด็กทั้ง 3 ราย จากเหตุระเบิด
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพตัดต่อบุตรชายของนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความข่มขู่เอาชีวิตลงในสังคมออนไลน์ ทำให้กลุ่มแม่ของลูก ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้ นายขรรค์ชัย คงเสน่ห์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.
โดยขอให้ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเด็ก จากการกล่าวปราศรัยบนเวทีด้วยถ้อยคำหยาบคาย การขู่คุกคามหวังเอาชีวิตในสังคมออนไลน์ และการเสียชีวิตจากเหตุระเบิดของเด็กทั้ง 3 ราย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
กลุ่มแม่ของลูก มองว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ควรมีแนวคิดรุนแรง ก้าวร้าว และข่มขู่ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเรียกร้องให้ กสม. เข้ามาดูแลและปกป้องเด็ก ด้วยการทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม ให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนชน
รวมทั้งยังฝากถึงผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ควรหลีกเลี่ยงนำเด็กเข้าไปใกล้จุดเสี่ยง หรือพื้นที่ที่สงสัยว่าจะเกิดอันตราย เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเด็กได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากเมื่อปี 2553 มีเด็กถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างปฎิบัติการกระชับพื้นที่การชุมนุม ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นคือ เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต ขณะเดินอยู่ใกล้พื้นที่การชุมนุม บริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ซอยหมอเหล็ง ถนนราชปรารภ กลางดึกคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
คดีนี้ ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่าเด็กชายคุณากร เสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์การชุมนุมตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยถูกกระสุนปืนความเร็วสูง เอ็ม 16 หรือ อาก้า ที่มีใช้ในราชการ
ส่วนความคืบหน้าด้านคดี ศาลมีคำสั่งนัดพร้อมโจทย์-จำเลย เพื่อตรวจสอบพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 มีนาคม 2557 ซึ่งจำเลยคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งการในขณะนั้น