ศรส. ขอศาลแพ่งแจงข้อปฎิบัติให้จนท. หลังพิพากษา
หลังคำพิพากษาศาลแพ่งให้คงไว้ซึ่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็กลับคุ้มครองสิทธิ และยังห้ามรัฐบาลและศรส.กระทำการต่อผู้ชุมนุม 9 ข้อ โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ
เรียกได้ว่า อำนาจของศรส.โดยเฉพาะปฏิบัติการเชิงพื้นที่ต้องสะดุดโดยปริยาย เรื่องนี้กลายเป็นเผือกร้อนที่ส่งมาถึงร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้อำนวย ศรส. ตั้งแต่ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น
ไม่ผิดคาด หลังประชุมเสร็จสิ้น ศรส.ออกแถลงการณ์กรณีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งศรส.ขอเห็นต่างในข้อกฎหมาย และมองว่า การที่ศาลแพ่งนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น เป็นเพียงการชุมนุมช่วงแรก ต่างจากศาลอาญาที่ไม่นำคำวินิจฉัยนี้มาใช้ ดังนั้นจึงต้องยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ยังแถลงยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งโดยเร่งด่วน เพื่อขอแนวทางปฏิบัติ โดยหากพิจารณา 7 คำถามของร้อยตำรวจเอกเฉลิมพบว่า เป็นสาระสำคัญในการปฏิบัติของศรส.ทั้งสิ้น ทั้งข้อสงสัยการบุกยึด และลักทรัพย์กระทรวงมหาดไทย หรือ การที่ผู้ชุมนุมปิดถนน สร้างบังเกอร์รอบทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่กระทำการใดได้บ้าง
เรื่องนี้ทำให้แกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประกาศว่า ศรส.หมดความหมายไปแล้ว คำตอบจึงอยู่ศาลอุทธรณ์ ท่ามกลางการยกระดับการชุมนุม และปัญหาการเลือกตั้งในเวลาสูญญากาศเช่นนี้อยู่