ความหมายของสถิติเลือกตั้ง 2 ก.พ.
จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ เลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มีความหมาย และเป็นสัญญาณสื่อถึงอะไรกับเราได้บ้าง ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
หน่วยเลือกตั้งเขตราชเทวี เป็นหนึ่งพื้นที่ ที่ถูกผู้ชุมนุมปิดล้อม ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แม้จะมีประชาชนเดินทางมาใช้สิทธิอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอีกหลายหน่วยในกรุงเทพมหานคร ที่เกิดปัญหาการถอนตัวของเจ้าหน้าที่ และในภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร รวมถึง การขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 มกราคม
เงื่อนไขเหล่านี้ต่างส่งผลต่อจำนวนผู้มาใช้สิทธิอย่างเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ กลายเป็นเครื่องชี้วัดทางการเมืองระหว่างคู่ขัดแย้ง
หากพิจารณาจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะวันที่ 2 กุมภาพันธ์พบว่า มีผู้ใช้สิทธิร้อยละ 45.84 หรือกว่า 20 ล้านคน จากผู้มีสิทธิประมาณ 44 ล้านคน
ลดลงจากการเลือกตั้งสองครั้งก่อนหน้า ที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิร้อยละ 74 ในปี 2550 และร้อยละ 75 ในปี 2554 นักวิชาการบอกว่า การสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอุปสรรคการเลือกตั้ง เป็นสาเหตุสำคัญของจำนวนผู้ใช้สิทธิที่ลดน้อยลง แต่ก็เป็นจำนวนที่บอกได้ถึงความพยายามรักษาระบบการเลือกตั้ง แม้จะเกิดอุปสรรคอย่างมาก
เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่คาดการณ์ว่า หากรวมจำนวนผู้มาใช้สิทธิในหลายเขตที่มีปัญหา คาดว่าตัวเลขน่าจะเกินร้อยละ 50 ซึ่งยืนยันได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยึดการแก้ปัญหาผ่านระบบการเลือกตั้ง
ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความการเลือกตั้งที่ผ่านมาให้เป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และระเบียบ กกต. ส่วนจำนวนผู้ใช้สิทธิที่น้อย และคะแนนโหวตโนที่ค่อนข้างมาก ทำให้เห็นว่าประชาชนต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ทดแทนเขตที่มีปัญหา จึงอาจเกิดอุปสรรคเช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ใช้สิทธิลดน้อยลง นักวิชาการเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควรหามาตรการควบคุมการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ และกลุ่มการเมืองไม่ควรใช้ตัวเลขดังกล่าวสร้างความชอบธรรม