รายการ Intelligence ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2555
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.วิทยากร เชียงกูล จากคณะวิทยากรนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมมองอดีตและอนาคตการเมืองไทย ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 เมษา- พฤษภา 53 ไปจนถึงอนาคตการเมืองไทยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ศ.ดร.เกษียร วิเคราะห์ว่า ไม่ควรแยกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ออกจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยควรเรียกว่าเหตุการณ์ 14 + 6 ตุลา เป็นผลสะเทือนจากการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 ทำให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด "ทุน" กลายมาเป็นโจทก์ใหม่ เป็น เผด็จการทุนนิยม ต่อมาในยุคปี ก่อนเกิดรัฐประหาร2549 เกิดการเถลิงอำนาจของกลุ่มทุน ภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นการจัดสรรอำนาจใหม่ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ศ.ดร.เกษียร เสียดายโอกาสที่ รัฐบาลใช้อำนาจแบบ อำนาจนิยม ปิดกั้นพลังฝ่ายค้าน และกลุ่มพลังมวลชน ขณะเดียวกันสถาบันหลัก เช่น สถาบันตุลาการ กองทัพ ก็ถูกนำมามาใช้จนหมดหน้าตัก
ศ.ดร.เกษียร ชี้ว่า มรดกของเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา คือ ประชาธิปไตยต้องใหญ่กว่าทุนนิยม เปิดพื้นที่ให้กลุ่มพลังอื่นเข้ามถ่วงดุลย์กับทุนนิยม พร้อมกับเตือนรัฐบาลปัจจุบันอย่าเดินตามรอยการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เป็นทุนนิยมขยายใหม่รอบ 3 ประชาคมอาเซียน ซ้ำรอยสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ยุค 2501 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ที่ชูโครงการ Eastern Seaboard
รศ.วิทยากร เชียงกูล ประเมินว่า กลุ่มตัวละครในเวทีการเมืองมีหลากหลาย กลุ่มกรรมกร ชาวนา หลายกลุ่มมีการรวมตัวจัดตั้งที่เป็นระบบมากขึ้น แม้ว่าพลังนักศึกษาจะอ่อนแอ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือการปฏิรูประบบ และสถาบันต่าง ๆเช่น ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปศาล ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบราชการ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวทั้งยังชี้ให้เห็นว่า สังคมยังมีทางเลือกที่ไม่สุดโต่ง เช่น ระบบผสม สังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบพรรคกรีน