ช่วง หลายปีที่ผ่านมา เป็นยุคทองของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่หากใครมีไอเดียในการทำธุรกิจดีๆ ก็สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ทำธุรกิจนั้นให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยตัวคนเดียว เราจึงเห็นมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเกิดขึ้นใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอูเบอร์ หรือ แอร์บีเอ็นบี แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่ายุคทองของสตาร์ทอัพที่เคยรุ่งเรื่องมาหลายปี มันใกล้จะถึงจุดจบแล้ว โดยจะเหลือแค่บริษัทใหญ่ๆที่อยู่รอดในอนาคต
เว็บ ไซต์ TechCrunch ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้วิเคราะห์ว่าขณะนี้ยุคทองของธุรกิจสตาร์ทอัพที่คนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียดีๆ และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วยตัวคน เดียว หรือกลุ่มคนไม่กี่คน กำลังใกล้จะถึงจุดจบแล้ว เนื่องจากว่าในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกิจจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการมีแค่ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างเดียวก็ยังไม่พอ แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องมีเงินทุนจำนวนมหาศาลด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่สามารถประกอบธุรกิจเหล่านี้ได้
TechCrunch ชี้ว่าตัวอย่างเทคโนโลโลยีที่จะเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วย 1) AI หรือปัญญาประดิษฐ์ 2) ฮาร์ดแวร์ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆอย่างโดรน หรือ อุปกรณ์แวร์เรเบิลต่างๆที่คนออกกำลังกายนิยมใส่กันเพื่อดูข้อมูลการออกกำลัง กายของตัวเอง 3) รถยนต์ไร้คนขับ 4) เทคโนโลยี Augmented Reality หรือ Virtual Reality หรือเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง และอย่างสุดท้ายคือ 5) Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่โต้เถียงในยุคนี้ว่าพวกสกุลเงินดิจิทัล อย่างบิทคอยน์ และอีเธอเรียม มันมีมูลค่าจริงๆหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่การเก็งกำไร แต่ถ้าถามคนในสายเทคโนโลยีที่เชื่อมั่นในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัล เขาก็จะบอกกันว่าสกุลเงินดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนสกุลเงินทั่วๆไปที่เราใช้กัน อยู่ทุกวันนี้ ในอนาคตอย่างแน่นอน
เรา จะเห็นว่าเทคโนโลยีที่กล่าวมา เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูงมาก และการพัฒนาจำเป็นต้องใช้ทรัพยการบุคคลจำนวนมหาศาล และต้องใช้เงินและเวลาในการวิจัยอย่างต่อเนื่อง อย่าง AI ก็ต้องมีการรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อให้ AI ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ทำให้มีแค่บริษัท IT ยักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก หรือ อาลีบาบาเท่านั้น ที่สามารถพัฒนาเรื่องของ AI ได้ แล้วอีกตัวอย่างหนึ่งคือรถยนต์ไร้คนขับ ที่เหมือนเป็นสนามแข่งขันของบริษัทที่มีทุนมหาศาลจริงๆอย่างเทสลา เพราะต้องทุ่มทุนวิจัย, ผลิต และทดสอบ เป็นเวลานานมาก ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้บริษัทสตาร์ทอัพค่อยๆล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ที่จะอยู่ได้ก็มีทางเลือกไม่มาก นอกจากจะต้องยอมขายบริษัทเพื่อรวมเข้ากับบริษัทขนาดใหญ่อีกทีหนึ่ง
จาก นี้ไป เราก็จะเห็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ก็จะมีแต่โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นผลมาจาก economy of scale เพราะบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากจะมีเงินทุนที่หนากว่าแล้ว ยังมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ถูกกว่าด้วย เพราะผลิตสินค้าจำนวนมากกว่า ขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพ ก็มีแต่จะอยู่ยากและเกิดยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องดีกับผู้บริโภค เพราะว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะมีอำนาจมากเกินไป ในหลายๆประเทศก็เริ่มมีการออกกฎหมายควบคุมบริษัทอย่างแอมะซอนและกูเกิลให้ อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอื่นๆสามารถอยู่ด้วยได้