กรุงเทพเผชิญปัญหาดินทรุดปีละ1 เซน เหตุสูบน้ำบาดาล หนักสุดจากธุรกิจอาบอบนวด
กรมแผนที่ทหาร สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ในอดีต) กรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT: Asian Institute of Technology) ได้ทำการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ.2521-2524 การสำรวจครั้งแรกนั้นพบว่ามีการทรุดตัวของพื้นดินมากกว่าปีละ 10 เซนติเมตร และช่วงตลอดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2551 มีระดับการทรุดตัวสะสมมากกว่า 1 เมตร แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา การทรุดตัวค่อย ๆ ลดลงและมีความเสถียรโดยมีการทรุดตัวสะสมประมาณปีละ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมการใช้น้ำบาดาลให้น้อยลง แต่กระนั้นก็ยังพบพื้นที่ที่มีอัตราการทรุดตัวมากกว่า 2 เซนติเมตรต่อปี ได้แก่ บริเวณมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด), บริเวณอำเภอเมืองสมุทรสาคร และบริเวณศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
ปัจจุบันการทรุดตัวของพื้นดิน ในที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังมีการทรุดตัวต่อไป ประกอบกับชุมชนเมืองมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปมากขึ้นทุกปี ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากไม่มีมาตรการมารองรับปัญหานี้ ในอนาคตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจจะเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้นได้ ทั้งนี้พบว่าสาเหตุใหญ่ของการทรุดตัวของแผ่นดินเกิดจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมากเกินกว่าที่น้ำบาดาลตามธรรมชาติจะไหลเข้ามาแทนที่ได้ทัน ดังนั้นจึงมีการประเมินว่าในปี พ.ศ. 2570 อัตราการสูบน้ำบาดาลในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะเพิ่มเป็น 1,386,411 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดินยังมีต่อไปเฉลี่ยที่อย่างน้อย 1.07 เซนติเมตรต่อปี
ที่มา http://www.tcijthai.com/news/2015/8/scoop/5726