บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นด้านธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำเตรียมย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังอินโดนีเซีย หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียบังคับใช้มาตรการเข้มงวดในการปราบปรามธุรกิจประมงเถื่อนและห้ามจับสัตว์น้ำในทะเลอินโดนีเซีย
นางซูซี ปุดจยาสตุตี รัฐมตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงแห่งอินโดนีเซีย กล่าวว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นหลายแห่งแสดงความสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมงจากประเทศไทยไปยังอินโดนีเซีย เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและการใช้แรงงานทาสบนเรือประมง และบริษัทที่ยืนยันว่าจะย้ายจากไทยไปยังอินโดนีเซียแน่นอนคือ บริษัท อิโตชู ซึ่งเป็นเครือธุรกิจขนาดใหญ่และมีอายุเก่าแก่เกือบ 200 ปีของญี่ปุ่น
นางซูซีระบุว่าด้วยว่าบริษัทอิโตชูแสดงความจำนงที่จะขยายการลงทุนในด้านอื่นๆ ของบริษัทในเครือ ซึ่งมีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค มายังอินโดนีเซีย และรัฐบาลอินโดนีเซียจะเจรจาต่อรองเรื่องมาตรการภาษีสินค้าส่งออก เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังตั้งกำแพงภาษีร้อยละ 7 กับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปจากอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศไทยได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ขณะเดียวกัน เดอะจาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซีย รายงานว่าการบังคับใช้มาตรการควบคุมและปราบปรามการประมงผิดกฎหมายของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งมีผลตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยเฉพาะคำสั่งห้ามเรือประมงที่ต่อขึ้นในต่างประเทศห้ามขนถ่ายปลากลางทะเล รวมถึงการห้ามใช้อวนลากและอวนล้อมในการจับปลาในน่านน้ำทะเลอินโดนีเซีย ตลอดจนการสั่งจมเรือประมงที่ได้รับการยืนยันว่าลักลอบเข้าหาปลาอย่างผิดกฎหมายทิ้ง ซึ่งการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับทั้งหมด ทำให้ทรัพยากรในทะเลอินโดนีเซียมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น และสามารถดึงดูดให้บริษัทด้านแปรรูปสัตว์น้ำและการประมงหลายแห่งเตรียมพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบริษัทจากญี่ปุ่นและรัสเซีย
จากข้อมูลของทางการอินโดนีเซีย พบว่าการบังคับใช้มาตรการด้านการประมงรูปแบบใหม่ ช่วยให้สถิติการจับสัตว์น้ำของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 หรือประมาณ 2 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ทั้งยังสามารถจับปลาทูนาที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 50 ถึง 80 กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นและรัสเซียได้เพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนายทาโระ โกโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น แถลงด้วยว่าญี่ปุ่นและอินโดนีเซียจะร่วมมือกันจัดสัมมนาและฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรของทั้งสองประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย เพิ่มเติมจากความร่วมมือด้านการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการประมงระหว่างประเทศที่ดำเนินมาแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงจะมีการตั้งศูนย์วิจัยและส่งเสริมศักยภาพการประมงด้วย