รายการ Intelligence ประจำวันที่ 22 กรกฏาคม 2555
นับตั้งแต่พบการอุบัติของโรคเอดส์ในประเทศไทยเมื่อปี 2528 กว่า 3 ทศวรรษที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างต่อเนื่อง ผู้ทำงานด้านเอดส์ ประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อเอดส์ในประเทศไทยมีจำนวน 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 5 แสนคน
อีก 2.5 แสนคนเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการรับยาต้านไวรัส ส่วนอีก 2.5 แสนราย อาจไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี และยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา เป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี
โจทย์ใหญ่ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีมีสถิติสูง คือ การมีพฤติกรรมเสี่ยง แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตัวเอง แต่หากคู่ของตัวเองมีคู่มากกว่า 1 ก็ถือว่ามีพฤติกรมเสี่ยง เพราะ 80-90 % ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธีเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า สาเหตุที่ต้องกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันตรวจหาเชื้อเอดส์โดยสมัครใจเพราะเป็นช่วงครึ่งปี หากมีพฤติกรรมเสี่ยงจะได้ทบทวนตัวเอง มีสโลแกนว่า "เอชไอวี ตรวจเพื่อก้าวต่อ" ขั้นตอนคือ เข้ารับการปรึกษาประเมินความเสี่ยง หากพบว่ามีความเสี่ยงก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจเลือด หากพบผลออกมาเป็น"บวก" ก็จะต้องเริ่มกระบวนการรับคำปรึกษาเพื่อวางแผนชีวิต และวางแผนการรักษา หากพบว่าผลเป็น "ลบ" ก็จะมีคำแนะนำว่าทำอย่างไรให้ผลเลือดเป็นลบไปตลอดชีวิต
นายแพทย์สรกิจ ภาคีชีพ ผู้จัดการอาวุโสกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยวัณโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับประชาชนที่ต้องการขอรับบริการปรึกษา และตรวจหาเชื้อ ตั้งเป้าไว้ที่ 4 แสนราย แต่ขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการเพียง 2 แสนราย ทั้งๆที่เป็นการตรวจที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะ สปสช.ให้สิทธิประโยชน์เรื่องการตรวจเลือดเอชไอวี ปีละ 2 ครั้งแค่คนไทยทุกคน และทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชจน ขอรับบริการได้ที่หน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง หากพบการติดเชื้อสามารถรับบริการด้านการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย