รายงานพิเศษจากสำนักข่าวเอพี จะพาไปยังแม่น้ำเมอร์เรย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อดูการทำงานของนักอนุรักษ์ ที่ใช้ประชากรกบ เป็นตัววิเคราะห์สภาพของแม่น้ำสายสำคัญ
เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนในประเทศออสเตรเลีย คัลลีย์ นิคโคลัย ใช้เวลาในช่วง 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในการตามหาบรรดาลูกอ๊อด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากกระแสน้ำขึ้นของแม่น้ำเมอร์เรย์ กับสัตว์จำพวกกบที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยผลการสำรวจที่ได้ เผยให้เห็นว่า บรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้เป็นอย่างดี
การศึกษาปริมาณประชากรกบ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจ และวิเคราะห์คุณภาพของแม่น้ำเมอร์เรย์ หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศออสเตรเลีย โดย คัลลีย์ นิคโคลัยกล่าวว่า กบจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างมาก ซึ่งถ้าที่อยู่อาศัยของพวกมันมีลักษณะผิดปกติ กบจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้
แม่น้ำเมอร์เรย์ เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศออสเตรเลีย โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่เขตชายแดนนิว เซาท์ เวลส์ และวิคตอเรีย ก่อนไหลทอดตัวเป็นระยะทางยาวกว่า 2,500 เมตร จนไปถึงมหาสมุทรใต้