เป็นที่รู้กันว่าระบบการจัดการน้ำที่ดีที่สุดในอาเซียนอยู่ที่สิงคโปร์ แต่การเลียนแบบสิงคโปร์อาจจะยากเกินไปสำหรับไทย ดังนั้น เราจะไปดูการจัดการน้ำของประเทศที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับไทยอย่างเวียดนาม ว่าเขามีแผนการจัดการน้ำอย่างไร
เวียดนามเป็นประเทศชายฝั่งทะเล มีฤดูฝนยาวนานประมาณ 5 เดือนต่อปี ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อถึงหน้าแล้ง เวียดนามก็ประสบภัยแล้งหนักมากเช่นกัน เพราะเป็นประเทศปลายน้ำ ทำให้ถูกประเทศต้นน้ำอย่างจีน ลาว ไทย กัมพูชาแย่งน้ำไปกักเก็บไว้ก่อนแล้ว แม้เวียดนามจะมีแม่น้ำถึง 39 สาย เป็นแม่น้ำสายใหญ่ 2 สาย แต่น้ำจืดที่ไหลลงมาไม่สามารถนำมาใช้สำหรับคนหลายล้านคนในเวียดนามได้ และซ้ำร้ายน้ำทะเลยังดันน้ำจืดจากปากแม่น้ำขึ้นไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย และสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ตายหมด โดยเฉพาะปีนี้ที่ปรากฏการณ์เอลนีญโยส่งผลให้น้ำแล้งจัดจนน้ำทะเลหนุนจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงขึ้นไปตามแม่น้ำเป็นระยะทางถึง 40 กิโลเมตร และน้ำกร่อยขึ้นไปถึงนครโฮจิมินห์ ซึ่งอยู่ห่างจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำประมาณ 100 กิโลเมตร
เวียดนามตื่นตัวเรื่องปรากฏการณ์เอลนีญโยตั้งแต่ปี 2014 แล้ว และพยายามหาทางจัดการน้ำให้ดีขึ้น โดยพยายามสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะเขื่อนขนาดเล็ก เพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ทรัพยากรน้ำมากที่สุด รัฐบาลพยายามกระจายอำนาจในการจัดการน้ำออกไปให้หน่วยงานท้องถิ่นดูแล เพื่อให้มีการเฝ้าดูระดับน้ำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิธีการกักเก็บน้ำฝน และบำบัดน้ำฝนที่ปนเปื้อนมลพิษ เพื่อนำมาใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่มีการตั้งเป้าว่า จะสร้างโรงงานบำบัดน้ำให้ได้ 30 แห่งภายในปี 2020 โดยกำหนดว่านิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ทุกแห่งจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียกลาง และสถานีบำบัดน้ำเสียจะต้องมีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 20 ของโซนโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังต้องมีพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องด้วย เนื่องจากปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของเวียดนาม ทำให้ทรัพยากรน้ำที่มีอย่างจำกัดปนเปื้อน ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภค หรือทำการเกษตรได้
ขณะที่สิงคโปร์ใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ และภาษีอนุรักษ์น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้คนใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนามกลับเลือกใช้วิธีสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการประหยัดน้ำมากกว่า โดยมีการร่างกฎหมายว่า บ้านหรือบริษัทที่มีการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ บำบัดน้ำเสีย กักเก็บน้ำฝน มีเครื่องมือผลิต หรือนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือเทคโนโลยีในการประหยัดน้ำ รัฐบาลจะลดภาษีร้อยละ 5 - 10 หรือให้เครดิตในการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเวียดนาม ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้วิธีนี้เป็นเพราะรัฐบาลรู้ดีว่า งบประมาณส่วนกลางอย่างเดียวไม่เพียงพอจะพัฒนาระบบจัดการน้ำทั้งระบบได้ภายในเวลาอันใกล้ จึงต้องจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ด้วย