ไม่พบผลการค้นหา
แรงต่อเนื่องแฮชแท็ก 'หมดเวลาหมูครองเมือง' ลั่นทวิตเตอร์ ทะยานสู่อันดับ 1 พร้อมแซวหมูยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ 'ธนาธร' ย้ำอนาคตใหม่จะเดินหน้ายุติการสืบทอดอำนาจคสช.ต่อไป

ไม่ทันข้ามวันกระแสหนังสือ ' Animal Farm' ที่แต่งโดย 'จอร์จ ออร์เวลล์' นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1945 ยังคงแรงต่อเนื่อง หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้แนะนำให้ประชาชนอ่านเพื่อใช้เป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามกลับมีเสียงวิจารณ์จากโลกโซเชียลว่า แท้จริงนัยของหนังสื่อเล่มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการหลงใหลในอำนาจของตน กระทั่งฝ่ายรัฐบาลจะออกมาชี้เเจงว่า การออกมาเชิญชวนให้อ่านหนังสือของนายกฯ ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ตีความทางการเมือง

ล่าสุดในโลกทวิตเตอร์ แฮชแท็ก 'หมดเวลาหมูครองเมือง' ซึ่งหมูคือตัวละครที่ขึ้นสู่อำนาจในหนังสือเล่มดังกล่าว ได้ขึ้นอันดับ 1 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย โดยชาวเน็ตได้ร่วมกันติดแฮชแท็ก พร้อมเสียดสีผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นหนึ่งในคนที่ติดแฮชแท็กดังกล่าว โดยระบุข้อความประกอบว่า

“สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวเท่าเทียมกว่าตัวอื่นๆ” นี่คือวาทะของหมูใน Animal Farm หนังสือที่ประยุทธ์แนะนำให้คนไทยอ่าน มาช่วยกันครับ สร้างสังคมที่ “คนเท่ากัน” โดยไม่ต้องมีใคร “เท่าเทียมกว่า” ใคร ผมและ #อนาคตใหม่ จะยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.ให้ได้ #หมดเวลาหมูครองเมือง

สำหรับหนังสือ Animal Farm ป็นวรรณกรรมคลาสสิกซึ่งได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Times ของสหรัฐฯ ว่าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ 1 ใน 100 เล่มที่นักอ่านทั่วโลก 'ต้องอ่าน' เพราะเป็นหนังสือที่กระตุ้นให้เกิดความคิดในเชิงวิพากษ์และตั้งคำถามกับสภาพสังคม แต่งโดย 'จอร์จ ออร์เวลล์' นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1945

โดย ม.ล.นิภา ภานุมาส เมื่อปี พ.ศ.2502 ผู้แปลหนังสือ ได้ใช้ชื่อภาษาไทยว่า 'ฟาร์มเดรัจฉาน' ทั้งยังมีสำนวนแปลของสำนักพิมพ์อื่นๆ ออกมาอย่างน้อย 9 ฉบับพิมพ์ และเดือน ต.ค. 2561 มีการตีพิมพ์ Animal Farm ฉบับ 2 ภาษา โดยสำนักพิมพ์แอร์โรว์ คลาสสิก บุ๊คส์ แปลโดย 'สรวงอัปสร กสิกรานันท์' และใช้ชื่อหนังสือครั้งล่าสุดว่า 'การเมืองเรื่องสรรพสัตว์' โดยคาดว่าเป็นการพิมพ์ในภาษาไทยครั้งที่ 10 ของวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องนี้ของจอร์จ ออร์เวลล์

'เพนกวิน' สำนักพิมพ์เก่าแก่ หนึ่งในผู้จัดพิมพ์ Animal Farm ระบุว่า นี่คือหนังสือเสียดสีสังคมที่พูดถึงเหล่าสัตว์ในฟาร์มซึ่งก่อกบฏกับ 'มนุษย์' เจ้าของฟาร์ม ผู้กดขี่ต่อสัตว์ต่างๆ แต่ท้ายสุดแล้ว สัตว์ในฟาร์มนั้นก็ลงเอยด้วยการสยบยอมต่อสัตว์ทรราชย์ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนมนุษย์ ทั้งยังระบุด้วยว่า จอร์จ ออร์เวล เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นจากมุมมองและบริบททางสังคมของโลกยุคหลังการปฏิวัติรัสเซีย เพื่อวิพากษ์การปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ จึงมีนักอ่านจำนวนหนึ่งมองว่านี่คือหนังสือต่อต้าน 'เผด็จการ'

นอกจากนี้ การกดขี่และความเลวร้ายของระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ เป็นเนื้อหาที่สะท้อนภาพสรรพสัตว์เชิงอุปมาใน Animal Farm และถูกมองว่าเป็น 'ประเด็นสากล' ทำให้นักอ่านจากทั่วโลกรู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเอง และ 'จอร์จ ออร์เวลล์' เป็นนักเขียนคนหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'ต้นธาร' ของวรรณกรรมแนวดิสโทเปียที่พยายามสะท้อนภาพสังคมอันเสื่อมทรามและการครอบงำสอดส่องความคิดของมวลชน ตรงข้ามกับสังคมอุดมคติใน 'ยูโทเปีย' วรรณกรรมของเซอร์โทมัส มอร์




อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :