เข้าสู่วันที่ 6 ของสองนักกิจกรรม ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม - อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมอิสระ เมื่อทั้งคู่ประกาศอดอาหารและน้ำ (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 มกราคม หลังยื่นขอถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิก มาตรา 112 และ มาตรา 116 โดยนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้เขียนถึงผลกระทบทางร่างกายจากการอดอาหารและน้ำไว้ดังนี้
การประท้วงด้วยการอดอาหาร (Hunger Strike) คือการปฏิเสธที่จะกินอาหารหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผลกระทบทางร่างกายจากการอดอาหารในวันแรกๆ คือ ร่างกายจะนำแป้งสะสม (ไกลโคเจนในตับและกล้ามเนื้อ) มาย่อยเป็นน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงาน ต่อมาก็จะนำไขมันและโปรตีนย่อยสลายมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ซูบผอม อ่อนแรง จิตใจเหนื่อยล้า ภูมิต้านทานลดลง ติดเชื้อง่าย โดยเฉลี่ยคนเราจะอดอาหาร(ทานแต่น้ำเปล่า)ได้ราว 6-8 สัปดาห์ หากอดอาหารนานกว่านี้อวัยวะจะเริ่มล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด
การประท้วงด้วยการอดอาหารน้ำ (Dry Hunger Strike) หมายถึง การอดอาหารที่ผู้ประท้วงจะไม่นำสิ่งใดเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเลย แม้แต่สารอาหารเหลว หรือน้ำที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การประท้วงในลักษณะนี้ อาการจะแย่กว่าอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) อย่างมาก
เนื่องจากร่างกายมนุษย์สามารถทนต่อการอดทั้งอาหารและน้ำอยู่ที่ประมาณ 7-10 วันเท่านั้น ประเด็นสำคัญคือ เมื่อร่างกาย ‘ขาดน้ำ’ จะทำให้มีปัสสาวะลดลง เลือดจะเข้มข้นขึ้น ทุกอวัยวะจะเริ่มรวน ไตทำงานไม่ดี เกิดภาวะของเสียคั่งและไตวาย การขาดน้ำทำให้ความดันลดต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงระดับต่ำมาก เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดภาวะเบลอ ซึม ไม่มีสติ เกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำ อวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิตในคุกซึ่งเป็นที่จองจำ
นายแพทย์สุภัทร มองว่า การจะแสดงอารยะขัดขืนและการประท้วงอย่างสันติวิถีสามารถทำได้ไม่กี่หนทาง และหนึ่งในทางเลือกที่มีอยู่น้อยแต่ทรงพลังก็คือ การอดอาหารอดน้ำประท้วง แรงกดดันนี้ไม่เฉพาะต่อระบบยุติธรรม แต่กดดันอย่างยิ่งต่อสำนึกของผู้คนในสังคมด้วย