ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้กรณีครูพี่เลี้ยงตบเด็กอนุบาล สะท้อนสังคมอำนาจนิยมในไทย บ่มเพาะความรุนเเรง ฝังลึกลงรากฐาน แนะรื้อทั้งระบบ จี้ รมว.ศึกษา ควรมีมาตรการลงโทษ ชัดเจน เพื่อความเป็นธรรมในสังคม

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการกระทำอันไม่เหมาะสมของครูสาวอนุบาลโรงเรียนแห่งหนึ่งในนนทบุรี ที่กระทำความรุนเเรงต่อเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ว่ายังคงมีข่าวความรุนแรงในโรงเรียนสถานศึกษาออกผ่านสื่อมวลชนมาเรื่อยๆ ถึงการกระทำของครูที่ทำร้ายนักเรียน ละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน และข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ คือนักเรียนอนุบาล และจากคลิปในกล้องวงจรปิดก็เป็นคลิปที่นักเรียนดึงหูและกระชากด้วยความรุนแรง หรือการใช้มือกดหัวไว้ที่โต๊ะ และกระทำหลายราย มันถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามแล้ว เหตุใดการกระทำเช่นนี้จึงเกิดขึ้น แล้วเราปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

“เพราะว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่ต้องถูกบ่มเพาะปลูกฝังมานาน และอยู่ในสังคมที่ไม่มีการท้วงติง เป็นสังคมที่เพิกเฉยต่อความรุนแรง และมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ใหญ่ที่จะกระทำต่อผู้น้อยได้” ธัญวัจน์ กล่าว

ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า การที่เห็นคนใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น แล้วสังคมเมินเฉย มองว่าไม่ใช่เรื่องของตน ไม่อยากยุ่ง มันคือการปล่อยให้ความไม่ถูกต้องลอยนวลอยู่ในสังคม เพราะสังคมอำนาจนิยมจะพร่ำสอนให้ต้องเชื่อฟัง ต้องยอมผู้ใหญ่ ห้ามเถึยงผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนในสังคมไม่กล้าที่จะออกมาพูด เพราะกลัวถูกเพ่งเล็ง โดนหางเลข พาตนเองตกที่นั่งลำบากเพราะไม่ฟังผู้ใหญ่ไปด้วย แต่วันนี้เด็กรุ่นใหม่มีความคิดเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายเปลี่ยนไป ต่างจากคนบางคนบางกลุ่มในรุ่นก่อน และการที่เราต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าถาม ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็เพื่อให้สังคมระแวดระวังกับสิ่งที่ 'อยุติธรรม' เกิดขึ้น และวันหนึ่งสิ่งนั้นจะเข้ามากระทบคนตนเองหรือคนรอบข้างที่ตนรัก

ขอยกตัวอย่างคดีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีดังและถูกทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1988 เป็นเรื่องราวที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนในบาร์เหล้าบนเครื่องเล่นพินบอล ถึงแม้เธอจะพูดคุยยิ้มแย้ม เต้นกับผู้ชายที่ข่มขืนเธอ แต่เมื่อเธอถูกจับขึ้นนอนราบบนเครื่องเล่นพินบอล เธอปฏิเสธที่จะให้มีการร่วมเพศเกิด แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามนั้น ซ้ำร้ายเพื่อนกลุ่มผู้ชายของผู้ที่ข่มขืนก็ร่วมกันข่มขืน บ้างก็ร่วมยืนเชียร์ สนับสนุนให้การข่มขืนเกิด ไม่มีการท้วงติง ห้าม แต่อย่างใด และที่ตกใจคนที่นั่งอยู่ในบาร์ก็ปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ยินดียินร้าย นั่งดื่มเบียร์และมองว่าไม่ใช่เรื่องของตน เหมือนสังคมของเราที่เรียกว่า 'ไทยเฉย'

ธัญวัจน์ กล่าว เพิ่มเติมว่า เมื่อศาลตัดสินคดีดังกล่าว ศาลสั่งให้จำคุกคนทั้ง 56 คนในบาร์นั้น ด้วยความรุนแรงในการก่อเหตุที่ต่างกันออกไป แน่นอนคือผู้ที่ข่มชืน แต่คนที่เชียร์ให้เกิด คนที่ไม่ห้าม และคนที่เพิกเฉยก็ถือว่ามีความผิดด้วย เพราะนี่คือความมั่นคงและหน้าที่ของคนในสังคมที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน นี่ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของสังคม

"เพราะอำนาจนิยม ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่แค่เพียงผู้ก่อเหตุและผู้ถูกกระทำ และมันคือเรื่องของสังคมที่ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำได้รับสิ่งที่เลวร้าย"

ทั้งนี้ ธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราควรมีการคุ้มครองปกป้องนักเรียนจากความรุนแรง เป็นมาตราการที่กระทรวงศึกษาธิการต้องออกประกาศให้มีความชัดเจนจากบทเรียนความรุนแรงที่ผ่านมา ให้ครูและนักเรียนทราบถึงสิทธิของตนเอง สิทธิเนื้อตัวร่างกาย และอะไรที่เป็นข้อห้ามที่จะละเมิดไม่ได้พร้อมบทลงโทษที่มีความชัดเจนในสถานศึกษา เพราะเด็กนักเรียนทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะพวกเขาจะต้องเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงก็ควรปรับแก้ให้กว้างขึ้นโดยที่ผู้ถูกกระทำไม่เพียงฟ้องร้องแค่คนกระทำเท่านั้น แต่ต้องสามารถฟ้องร้องเอาผิดคนที่ สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ การเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ โดยไม่มีการทักท้วง ได้รับโทษที่แตกต่างกันด้วย เพราะการต่อสู่ในสังคมอำนาจนิยม ไม่ใช่เป็นการต่อสู่ระหว่างบุคคล แต่เป็นการต่อสู่ของบุคคลที่ถูกกระทำต่อสังคมที่ไม่เป็นธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: