นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและทีมทนายความ เดินทางมาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก หลังศาลนัดพร้อมคู่ความในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประกาศไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับ คสช. และกรณีจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ถึงเหตุผลที่ไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับ คสช. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งคดีความโอนมาจากศาลทหาร ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 โดยศาลนัดคู่ความทั้งสองฝ่ายเพื่อกำหนดวันที่จะสืบพยานในคดีอีกครั้ง ซึ่งคดีนี้สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปากในศาลทหาร ขณะที่นายจาตุรนต์ ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล เพื่อให้ประกอบการพิจารณาคดี ที่อาจนำสู่การ ยกฟ้องได้ในที่สุด แต่ทั้งหมดขึ้นกับการ พิจารณาของศาลหลังจากนี้
นายจาตุรนต์ ระบุว่า หนังสือขอความเป็นธรรมได้แสดงถึงความไม่ชอบมาพากล และความไม่ปกติของการดำเนินคดีที่เชื่อว่า คสช.ต้องการยุติบทบาทและการแสดงความเห็นทางการเมืองของตน ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีและให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทหาร หรือเป็นการฟ้องคดีเพื่อปิดปากและยังเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" สำหรับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจในยุค คสช.อีกด้วย หลังจากใช้ข้อหาฝ่าฝืน คำสั่ง คสช.แล้วไม่สามารถนำตนไปขึ้นศาลทหารได้ จึงใช้ข้อหาความมั่นคงตามมาตรา 116 แทน และนอกจากการดำเนินคดีแล้ว ผู้มีอำนาจปฏิบัติการดังกล่าวควบคู่กับมาตรการอีกหลายอย่าง ทั้งการอายัดบัญชีธนาคารและการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งศาลปกครองได้ตัดสินแล้วว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายจาตุรนต์ ยืนยันโดยระบุในคำร้องด้วยว่าการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ควรเป็นคดีความตั้งแต่ต้น เพราะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการโอนคดีจากศาลทหารมาสู่ศาลสถิตยุติธรรมปกติหลังการเลือกตั้งที่เริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยบ้างแล้วนั้น เป็นการพิสูจน์แล้วว่า การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เป็นพลเรือนโดยใช้ศาลทหารนั้น ขัดกับหลักนิติธรรมและขัดกับหลักการสากลที่นานาอารยประเทศไม่ให้การยอมรับ ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทหารที่ไปควบคุมตัวตนนั้น ได้บอกเองว่า รู้ว่าตนไม่ได้กระทำความผิดแต่ผู้มีอำนาจต้องการ ให้ตนขึ้นศาลทหาร เพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหว โดยจากนี้หวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม และนำกระบวนการทางกฎหมายเข้าสู่หลักนิติธรรมได้