ไม่พบผลการค้นหา
สช.สั่ง 'โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์' คืนเงินค่าธรรมเนียมการเรียนการสอนให้ผู้ปกครอง พร้อมให้จัดจำนวนเด็กนักเรียนในห้องเรียนต้องตรงตามที่ สช.กำหนด ด้าน สตม.เตรียมเอาผิดโรงเรียนฐานรับครูต่างชาติมาสอนโดยไม่มีใบอนุญาต

ที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี กลุ่มผู้ปกครองนักเรียนที่ถูกพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกาย ไม่พอใจเหตุโรงเรียนนัดผู้ปกครองมาประชุมหาทางออก แต่ทางโรงเรียนกลับเปิดห้องประชุมโดยแค่มีผู้บริหารของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาประชุมร่วมกันเท่านั้น แต่กลับไม่เชิญผู้ปกครองเข้าไปร่วมรับฟัง

โดยผู้ปกครองจำนวนหนึ่งระบุว่า ทำไมโรงเรียนต้องปิดห้องคุยกับผู้บริหารจาก ศธ.เท่านั้น ทำไมไม่ให้ผู้ปกครองร่วมรับฟัง ไหนว่าต้องหาทางออกร่วมกัน พวกตนต้องการคำตอบที่ชัดเจน ลูกตนถูกทำร้ายจะรับผิดชอบอย่างไร และต้องการให้โรงเรียนออกมารับผิดชอบให้คำตอบที่ชัดเจน

ต่อมาโรงเรียนเปิดห้องประชุม ให้ผู้ปกครองและสื่อรับฟังข้อสรุป โดยมี อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.), กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ร่วมแถลงด้วย

อรรถพล กล่าวว่า จากการประชุมที่ไม่ได้เชิญผู้ปกครองเข้าร่วมนั้น เพราะตนเข้ามาเพื่อขอข้อมูลจากโรงเรียนเพิ่มเติมเท่านั้น เพราะจากการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนมีปัญหาต้องแก้ไขหลายอย่าง เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ตามระเบียบที่ สช. กำหนด โดยในระดับอนุบาลนั้น กำหนดอัตราการเก็บต่อปี ไม่เกิน 80,000 บาท ดังนั้นแต่ละภาคเรียน โรงเรียนสามารถเก็บได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อภาคเรียน โดยรวมทั้งค่าใช้จ่าย ค่าอาหารกลางวัน ค่าตรวจสุขภาพนักเรียน ค่าตรวจสารเสพติด ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าเรียนว่ายน้ำ ค่าเรียนดนตรี ค่าห้องเรียนปรับอากาศ ค่าเรียนเสริมนอกตำราเรียน ค่าเรียนเสริมพิเศษ เป็นต้น

ซึ่งรายการเหล่านี้กำหนดให้รวมค่าเทอม ไม่แยกเก็บต่างหาก ดังนั้นหากผู้ปกครองพบว่า โรงเรียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนเกิน 80,000 บาท ทางโรงเรียนรับปากจะคืนเงินส่วนเกินให้ผู้ปกครองทั้งหมด ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนโดยเฉพาะจำนวนนักเรียนต่อห้อง ที่ สช.กำหนดไว้ไม่เกิน 25 คนต่อห้อง แต่โรงเรียนกลับเปิดรับ 34 คนต่อห้อง จะต้องแก้ไขภายใน 15 วัน หากไม่แก้ไข ตนสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดต่อไป

นอกจากนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 12 คน ตรวจสอบโรงเรียนเครือสารสาสน์ทั้ง 34 แห่ง ที่ สช.ได้รับการร้องเรียนด้วย โดยเริ่มจากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ เป็นแห่งแรก และต่อไปนี้ สช.จะปิดช่องว่างทั้งหมด โดยมีมาตรการบังคับให้โรงเรียนเอกชนทุกแห่ง ติดประกาศพร้อมกับภาพถ่าย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู วันหมดอายุ หน้าห้องเรียนทุกห้อง เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจในโรงเรัยนเอกชนต่อไป และถ้าโรงเรียนจ้างคนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาทำหน้าที่ครู มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท

สตม.เอาผิด รร.รับครูต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต

ส่วนที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) เปิดเผยถึงกรณีครูสอนภาษาชาวฟิลิปปินส์ที่ปรากฏในคลิปใช้ความรุนแรงด้วยการกระชากแขนเด็กอนุบาลในห้องพี่เลี้ยงที่ทำร้ายร่างกาย โดยมีหลักฐานเป็นคลิปจากกล้องวงจรปิดที่ผู้ปกครองรายหนึ่งนำมาเผยแพร่ว่า ปกติทาง ตม.จะมีชุดตรวจสอบในการขออยู่ต่อ เช่น กรณีของครูจะต้องได้รับหนังสือรับรองใบประกอบวิชาชีพจากกระทรวงศึกษา เมื่อได้ใบประกอบวิชาชีพมาแล้วก็จะมายื่นเรื่องกับ สตม. 

จากนั้นต้องไปยื่นขออนุญาตการทำงานกับกระทรวงแรงงาน ต่อส่วนกรณีโรงเรียนที่เป็นข่าวทาง ตม.ร่วมกับตำรวจพื้นที่ในการตรวจสอบพบครูชาวต่างชาติหลายคน โดยส่วนใหญ่มีใบอนุญาตการทำงานถูกต้องทั้ง วีซ่า พาสปอร์ต ยกเว้นครู 1 คนไม่มีใบอนุญาต จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ผบก.ตม.3 และ ตม.เมืองนนทบุรี ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.ชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี กับครูในเรื่องของการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนโรงเรียนดังกล่าวจะแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้

ส่วนที่ผ่านมา ตม.มีการจับกุมชาวต่างชาติที่แฝงเข้ามาเป็นครูมากน้อยแค่ไหน พล.ต.ท.สมพงษ์กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมามีการจับกุมหลายคน ทั้งอีสาน และจ.นครสวรรค์ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเรียนว่า เหตุนี้เกิดจากครูไปทำร้ายเด็ก บางครั้งทาง ตม.ทำตามหน้าที่ในการจับกุมแต่ก็ถูกนักเรียนหรือโรงเรียนนั้นแสดงความคิดเห็นว่าทำไม ตม.ไปรังแกครูเขา เพราะครูที่มีความรู้ด้านภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ค่อนข้างมีน้อยไม่พอกับความต้องการของนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัด เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องใช้หลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติ ผลประโยชน์ส่วนรวม บางครั้งโทษแค่ปรับ แต่เด็กได้รับการศึกษาด้านภาษา ซึ่งการติดต่อสื่อสารใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ บางครั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่จึงคำนึงในส่วนนี้เป็นหลัก

ผบช.สตม.กล่าวว่า เช่นกรณีการจับกุมใน จ.นครสวรรค์ ตม.เคยจับกุมครูที่ได้รับอนุญาตสอนอยู่ในโรงเรียนหนึ่ง แต่ครูคนนี้เห็นเป็นโรงเรียนเทศบาล จึงไปช่วยสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ไปเป็นจิตอาสา ก็มีคู่แข่งมาแจ้ง ตม.ก็ต้องไปทำตามหน้าที่ ก็ไม่อยากทำ แต่ถ้าไม่ทำก็จะโดนละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นของโรงเรียนที่มีปัญหา เกิดจากครูไม่ได้มาตรฐานและไปทำร้ายเด็ก ก็จะต้องดูและให้ความเป็นธรรมไปเป็นกรณีๆ ไป ยืนยันการทำหน้าที่ของ ตม.มีการกวดขันอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐาน เราใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ผสมผสานกัน

nathan-dumlao-572047-unsplash.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง