ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงเกษตรตั้งเป้า ปี 68 ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 'เฉลิมชัย' สั่งกรมปศุสัตว์เร่งเฝ้าระวังป้องกันควบคุมทุกพื้นที่

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2568” ตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้า ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ มีแนวทางแก้ปัญหาโรคนี้โดยมุ่งเน้นการควบคุมประชากรสุนัขและแมว และสัตว์ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสุนัขและแมวเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าให้ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยงรวมถึงการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบและไม่ปล่อยทิ้งสัตว์ในพื้นที่สาธารณะ 

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าปี 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ย. มีรายงานพบจากการสุ่มตรวจจำนวนสัตว์ที่มีเชื้อรวม 210 ตัว คิดเป็นร้อยละ 5 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่ปี 2561 สูงถึงร้อยละ 15 ผู้เสียชีวิต 18 ราย

รองโฆษกฯ กล่าวต่อว่า เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนต่างๆและประชาชนในการสร้างอาสาปศุสัตว์รุ่นใหม่และพัฒนาอาสาปศุสัตว์เดิมที่มีอยู่แล้วให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมในทุกพื้นที่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ไปแล้วหลายรุ่น มีผู้ผ่านการอบรมครอบคลุมทุกพื้นที่ มากกว่า 1 แสนคน และในปี งบประมาณ 2566 นี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 8,600 คน อย่างน้อย 2 - 3 คนต่อตำบล อาสาปศุสัตว์ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรม บัตรประจำตัวอาสาปศุสัตว์ และหนังสือมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตวแพทย์ ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 

“รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนร่วมมือกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในเรื่องการฉีดวัคซีนแก่สุนัขและแมว อีกทั้ง มุ่งสร้างอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า เพราะถือเป็นหัวใจหลักของชุมชนที่จะช่วยให้การเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเกิดความอย่างยั่งยืน ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง”