เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในการประชุมอนาคตเอเชีย (Future of Asia Conference) ที่โตเกียว ว่ามาเลเซียทราบดีถึงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล แต่จะยังคงใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยอยู่ดี เพราะหัวเว่ยมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมาก
"ก็จริง อาจจะมีการสอดแนมบ้าง แต่ในมาเลเซียมีอะไรให้สอดแนมจริงๆ ล่ะ เราเปิดเผยอยู่แล้ว" มหาเธร์ กล่าวในการประชุม พร้อมเสริมว่าหัวเว่ยสามารถเข้าถึงงานวิจัยจำนวนมากกว่างานวิจัยในมาเลเซียทั้งหมดรวมกันเสียอีก
"เราจะพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหัวเว่ยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้"
มหาเธร์ยังกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ และประเทศตะวันตก ต้องยอมรับว่าประเทศเอเชียสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้แล้ว และไม่ควรข่มคู่คุกคามคู่แข่งทางธุรกิจ
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ชี้ว่า การที่มหาเธร์กล่าวสนับสนุนหัวเว่ยในที่สาธารณะ เป็นสัญญาณว่าความพยายามของสหรัฐฯ ในการหาพันธมิตรต่อต้านหัวเว่ยประสบความล้มเหลวในบางประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายไร้สาย 5G ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่หัวเว่ยเชี่ยวชาญ
ท่ามกลางความซับซ้อนของสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ การขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยกลายเป็นการกดดันผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมทั่วโลกต้องตัดสินว่าจะต่อต้านหัวเว่ยหรือไม่
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม M1 Limited ซึ่งเป็นหนึ่งสามบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เพิ่งแถลงว่าจะยังคงทำธุรกิจกับหัวเว่ยต่อไป ทว่าจะใช้ผู้ให้บริการรายอื่นในการวางเครือข่าย 5G
ขณะที่วันที่ 29 พษภาคม SoftBank ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น ระบุว่าจะเลือกใช้อุปกรณ์ของ Nokia และ Ericsson สำหรับ 5G จากเดิมที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย
ทางด้าน Axiata Group ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย จามาลูดิน อิบราฮิม ซีอีโอบริษัทระบุว่าจะยังคงร่วมกับหัวเว่ยในการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่าย แม้จะยังไม่ตัดสินใจว่าพาร์ตเนอร์ด้านอุปกรณ์จะเป็นใคร อ้างอิงจากการรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซีย ในวันที่ 30 พฤษภาคม
ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มหาเธร์ได้เยี่ยมชมบริษัทของหัวเว่ยในกรุงปักกิ่งและเคยกล่าวชื่นชมบริษัทจีนรายนี้มาแล้ว โดยชี้ว่าหัวเว่ยล้ำหน้ามากในด้านการใช้ปัญญาประดิษฐ์
"เรามองเห็นโอกาสสำหรับเรา มาเลเซียและหัวเว่ยสามารถร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารและเอไอได้" นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว