การออกหมายจับโดย ICC ในครั้งนี้ นับเป็นการออกหมายจับรอบที่ 2 ต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครน โดยในการออกหมายจับครั้งครั้งแรก ICC ได้ประกาศการต้องการตัว วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิเด็กของรัสเซียอีกรายหนึ่ง
อย่างไรก็ดี รัสเซียไม่เคยลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้รัสเซียไม่อยู่ภายใต้กรอบอำนาจของ ICC และจะไม่มีการส่งตัวนายพลทั้งสองไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ
ICC ระบุว่าหมายจับล่าสุดมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสองต้องรับผิดชอบต่อ "การโจมตีด้วยขีปนาวุธที่ดำเนินการโดยกองกำลังภายใต้การบังคับบัญชาของพวกเขาต่อโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าของยูเครน" ทั้งนี้ ICC ระบุว่าอาชญากรรมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างเดือน ต.ค. 2565 ถึงเดือน มี.ค. 2566
ICC กล่าวว่าการโจมตีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือน และเป็นความเสียหายที่มากเกินไปอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ชายทั้งสองยัง “ต่างถูกกล่าวหาว่าต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามอันมุ่งโจมตีวัตถุของพลเรือน” และยังถูกกล่าวหาว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม” ตามคำระบุของ ICC
ตามการระบุของ ICC โคบีลาช ในวัย 58 ปี เป็นผู้บัญชาการการบินระยะไกลของกองทัพอากาศรัสเซียในขณะที่ก่ออาชญากรรม ในขณะที่โซโคลอฟ ในวัย 61 ปี เป็นพลเรือเอกในกองทัพเรือรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากองเรือทะเลดำในช่วงเวลาที่เกิดการก่ออาชญากรรมขึ้น
ก่อนหน้านี้ รัสเซียออกมาปฏิเสธว่า กองทัพของพวกเขาไม่มีการกำหนดเป้าหมายการโจมตีไปยังโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในยูเครนแต่อย่างใด
ในอีกด้านหนึ้ง โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกมาแสดงความยินดีต่อหมายจับฉบับใหม่ที่ประกาศออกมาจาก ICC
“ผู้บัญชาการรัสเซียทุกคนที่สั่งโจมตีพลเรือนยูเครนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะต้องรู้ว่าจะได้รับความยุติธรรม” เซเลนสกีระบุ “ผู้กระทำผิดในอาชญากรรมดังกล่าวทุกคนต้องรู้ว่าพวกเขาจะต้องรับผิดชอบ”
ICC ก่อตั้งจากธรรมนูญของสหประชาชาติเมื่อปี 2545 โดยศาลดังกล่าวทำหน้าที่สืบสวนและนำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม มาลงโทษ โดยศาลสามารถสั่งให้มีการเข้าแทรกแซง เมื่อหน่วยงานระดับชาติใดๆ ไม่สามารถหรือจะไม่ดำเนินคดีต่อจำเลยตามหมายจับ ICC ได้
ธรรมนูญกรุงโรมได้รับการรับรองโดย 123 ประเทศ อย่างไรก็ดี รัสเซีย พร้อมด้วยจีน อินเดีย และสหรัฐฯ เป็นชาติที่ปฏิเสธการเข้าร่วมลงนาม
เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ICC ได้ออกหมายจับปูติน และ มาเรีย ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการด้านสิทธิเด็กของรัสเซีย โดย ICC ตั้งข้อกล่าวหาทั้งสองว่ามีส่วนในการก่ออาชญากรรมสงคราม จากการเนรเทศเด็กจากยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ทางการรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และประณามหมายจับดังกล่าวว่า "น่ารังเกียจ"
ที่มา: