ไม่พบผลการค้นหา
EIC ไทยพาณิชย์เผยรายงานสำรวจวิถีชีวิตคนไทยยุคใหม่ 'เป็นโสด' กันมากขึ้น เน้น 'ดื่ม-กิน-เที่ยว' เพื่อสร้างความสุข จึง 'จ่ายหนัก' กว่าคนมีครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็มีภาระหนี้น้อยกว่า เพราะไม่เน้นเป็นเจ้าของบ้านหรือรถยนต์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ไทยพาณิชย์ เผยแพร่รายงานสำรวจวิถีชีวิตประชากรช่วงวัย 20-60 ปีในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550-2560 พบว่า คนไทยแต่งงานน้อยลงและหย่ากันมากขึ้น อ้างอิงจากสถิติการจดทะเบียนสมรสที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สถิติการจดทะเบียนหย่าก็เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนคนโสดในไทยเพิ่มขึ้นไปด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 ระบุว่า 'คนโสด' จะนับเฉพาะคนที่อายุเกิน 20 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย และนับรวมคนที่หย่าแล้ว พบว่าคนกลุ่มนี้มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวมากกว่าคนมีครอบครัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 11 ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลด้านการใช้จ่ายและสินทรัพย์พบว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนโสดและคนมีครอบครัวมีความแตกต่างกันในหลายด้าน

ทั้งนี้ คนโสดจะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากกว่า มีทรัพย์สินน้อยกว่า เพราะไม่เน้นการเป็นเจ้าของบ้าน ที่ดิน หรือรถยนต์ ทำให้มีภาระหนี้น้อยกว่าคนมีครอบครัว ด้านคนมีครอบครัวจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงกว่า สอดคล้องกับข้อมูลด้านสินทรัพย์ ได้แก่ บ้านและรถ โดยมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่ที่ร้อยละ 51 สะท้อนถึงการที่คนโสดอาจมีความจำเป็นในการมีบ้าน-รถที่น้อยกว่า อย่างไรก็ดี เมื่ออายุมากขึ้น สัดส่วนความเป็นเจ้าของทั้งบ้านและรถจะเพิ่มขึ้นในทั้งสองกลุ่ม

นอกจากนี้ คนโสดยังใช้จ่ายมากกว่าด้านการ 'กิน-ดื่ม' นอกบ้าน และด้านการท่องเที่ยว โดยคนโสดมีการใช้จ่ายด้านอาหารมากกว่าคนมีครอบครัวราวร้อยละ 12 โดยรายจ่ายอาหารนอกบ้านของคนโสดคิดเป็น 'ครึ่งหนึ่ง' ของรายจ่ายด้านอาหารทั้งหมด ขณะที่คนมีครอบครัวใช้จ่ายเพื่อการรับประทานอาหารนอกบ้านเพียงแค่ 1 ใน 3 ของรายจ่ายด้านอาหารทั้งหมด

ขณะเดียวกัน คนโสดต้องจ่ายค่าเดินทางสาธารณะสูงกว่าคนมีครอบครัวถึงร้อยละ 42 และใช้จ่ายต่อหัวด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศสูงกว่าคนมีครอบครัวค่อนข้างมากถึงร้อยละ 40 ส่วนรายจ่ายด้านกิจกรรมความบันเทิงอื่น ๆ เช่น ดูหนัง เลี้ยงสัตว์ กิจกรรมทางศาสนา และอื่นๆ ก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าประมาณร้อยละ 5

ส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพ คนมีครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงกว่าคนโสดทุกระดับอายุ ประมาณร้อยละ 48 ทั้งค่ายา ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสุขภาพ หรือค่าโรงพยาบาล ซึ่งจะรวมถึงค่าคลอดบุตรและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของบุตรด้วย

อย่างไรก็ตาม รายงานของ EIC ไทยพาณิชย์ระบุว่า ผู้มีสถานะ 'โสด' ที่อยู่ด้วยกันกับคู่รักแบบไม่จดทะเบียนสมรส ไม่รวมอยู่ในข้อมูลชุดนี้ เพราะการศึกษาครั้งนี้ 'คนโสด' หมายถึง ครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และไม่เคยแต่งงานหรือหย่าร้างมาก่อน และต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง ส่วนคนมีครอบครัว หมายถึง ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนมีสถานะสมรสและมีสมาชิกมากกว่า 1 คน

https://www.scbeic.com/stocks/product/o0x0/u8/me/fdkxu8mer5/Data_Infographic_Single-01-01.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: