วันนี้ (อังคารที่ 8 เมษายน 2568) เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำถึงการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้านของรัฐบาลไทย พร้อมเปิดเผยว่า แม้การดำเนินมาตรการภาษีของสหรัฐจะดูเป็นแรงกดดันที่เข้มข้น แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อแรกที่ไทยจะดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ win-win เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือเครื่องในสัตว์ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารสำเร็จรูป การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าก็ยังสามารถลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้การค้าของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรองรับการส่งออกในรูปแบบที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
แนวทางที่สอง คือ การทบทวนภาษีนำเข้าของสินค้าที่ปัจจุบัน โดยรัฐบาลพิจารณาว่าหากมีการผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการและบริหารโควต้าให้เหมาะสม จะสามารถเปิดตลาดอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่กระทบกับภาคการผลิตในประเทศมากนัก ซึ่งการบริหารความยืดหยุ่นในส่วนนี้จะเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในแง่ของความตั้งใจในการลดอุปสรรคทางการค้าและยกระดับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล
แนวทางที่สาม คือ การปรับปรุงกลไกภายในประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎระเบียบและขั้นตอนนำเข้าสินค้า โดยมุ่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่อาจเป็นต้นเหตุให้สหรัฐฯ มองว่าประเทศไทยมีพฤติกรรมกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้ไทยดูดีในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบภายในประเทศ ลดภาระของผู้ประกอบการ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม
แนวทางที่สี่ คือ หาทางรับมือกับประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำผิดปกติจากประเทศที่สาม ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นทางผ่านหรือแหล่งเลี่ยงภาษี เพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยจะใช้มาตรการคัดกรองสินค้านำเข้าอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด และดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของการกล่าวหาว่าช่วยหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของประเทศที่สาม ทั้งยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล
แนวทางที่ห้า คือการพิจารณาปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีที่ไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากร เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นโอกาสในการให้บริษัทไทยเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น แล้วส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ถือเป็นการสร้างเครือข่ายมูลค่าเพิ่มและลดแรงเสียดทานทางการค้าในระยะยาว
รองนายกรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำว่า การรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ไม่อาจอาศัยเพียงมาตรการฉุกเฉิน แต่ต้องใช้กระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์และการเจรจาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายในลักษณะ win-win solution เพื่อให้เกิดผลดีทั้งต่อไทยและสหรัฐฯ โดยเน้นการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่กับการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศอย่างมั่นคง พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำรายละเอียด เพื่อเตรียมเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR อย่างรอบด้านและทันสถานการณ์ต่อไป