หากจินตนาการถึงสภาวะอารมณ์ จิตใจของคนที่กำลังรอคอยใครสักคนกลับมาโดยที่ไม่รู้ว่า เวลานี้เขาไปอยู่ที่ไหน และยังมีชีวิตอยู่ไม่ มันคงเป็นช่วงเวลาของการรอคอยที่ทรมานไม่น้อย
แต่ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่มีกระบวนการบางอย่างซึ่งทำให้ใครคนนั้นหายตัวไป โดยทิ้งร่องรอยหลักฐานบางอย่างไว้ แต่กลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของรัฐไม่สามารถที่จะสืบค้นความจริงใดๆ ได้ ว่าใครคือผู้กระทำ ทั้งยังไม่มีคำตอบว่าผู้ที่หายไปนั้น เป็น หรือตาย อารมณ์ที่เกิดขึ้นอีกอย่างคงเป็นความโกรธที่ปนอยู่กับความเศร้า สิ่งเดียวที่ทำให้คนที่รอมีชีวิตอยู่ต่อไปคือความหวังที่จะได้พบใครคนนั้นอีกสักครั้ง หรือไม่ก็อยู่เพื่อต่อสู้เพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ อีก
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองสิทธิมนุษยชน ที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 และครอบครัวของผู้ลี้ภัยการเมืองอีกหลายคนที่ถูกบังคับสูญหาย โดยบางรายพบเป็นศพถูกทุบหน้า ผ่าท้อง ยัดด้วยแท่งปูน ถ่วงแม่น้ำโขง กำลังถูกตรึงขังภายใต้ภาวะอารมณ์นั้น
4 มิ.ย. 2563 เวลา 16.40 น. คือวันเวลาที่ วันเฉลิม ถูกอุ้มหายขณะลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้ง หน้าคอนโดที่เขาพักอาศัยอยู่ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา สิตานัน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ว่า ขณะที่วันเฉลิมกำลังถูกอุ้มหายนั้น เธอกำลังคุยโทรศัพท์อยู่กับน้องชายอยู่ แต่จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงร้องออกมาว่า “โอ้ย...หายใจไม่ออก” ก่อนที่สายจะตัดไป เธอจึงประสานไปที่เพื่อนของวันเฉลิมเพื่อให้ช่วยติดต่อกับคอนโดที่เขาอาศัยอยู่ ก่อนจะทราบว่าวันเฉลิมถูกลักพาตัวขึ้นรถ SUV สีดำ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคอนโดดังกล่าว แต่เขาไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ เพราะเห็นว่าในกลุ่มคนที่ก่อการนั้นพกอาวุธปืนมาด้วย
นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ วันเฉลิมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สาวของเขา
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ชื่อของ วันเฉลิม เป็นอีกหนึ่งรายชื่อที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึี่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าการก่อรัฐประหารครั้งนั้น กล่าวได้ว่าในช่วงเวลาดังนั้น ผู้สถาปนาอำนาจจากปลายกระบอกปืน พยายามกดปราบความเคลื่อนไหว การต่อต้าน ผ่านการใช้อำนาจทุกรูปแบบ ในเวลานั้นไม่มีหน่วยงานองค์กรใดๆ สามารถตรวจสอบ และหยุดยั้งการกระทำของคณะรัฐประหารได้ นั่นทำให้ผู้ที่มีรายชื่อถูกเรียกรายงานตัวหลายคนเลือกที่่จะลี้ภัยทางการเมืองเนื่องจากรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และสวัสดิภาพของพวกเขา
เว็บไซต์ iLaw รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 1 ปีหลังการรัฐประหารปี 2557 พบว่า มีบุคคลถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 ราย วันเฉลิมเป็นหนึ่งในนั้น และเขาเลือกที่จะลี้ภัยทางการเมือง มากกว่าที่จะยอมทำตามอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม
ผ่านไปหลายปี ชื่อของ วันเฉลิม ปรากฎเป็นข่าวในทางสาธารณะอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2561 โดยพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ร่วมกันแถลงจับกุมผู้ต้องหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จากการโพสต์บทความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาลในเฟซบุ๊กเพจ “กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ” จำนวน 2 โพสต์ ซึ่งในการแถลงจับกุมดังกล่าวอ้างด้วยว่า วันเฉลิม เป็นแอดมินเพจดังกล่าว
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ "ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปี อุ้มหายวันเฉลิม"
จิรัฐ ทองผิว ผู้อำนวยการศูนย์สอบสวนการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้ร่วมให้ข้อมูลถึงกรณีของวันเฉลิมว่า เมื่อปีที่ผ่านมี สิตานัน ได้เข้ามายื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และทางกรมรับคำร้องไว้ และพิจารณาแล้วว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร และเป็นไปตามปรมวลกฎหมายพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 20 ผู้มีอำนาจในการสอบสวนคือ อัยการสูงสุด และทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดให้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่แล้ว
จิรัฐ ระบุต่อว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบกับกระทรวงต่างประเทศ โดยทราบว่า สำนักงานตำรวจของประเทศกัมพูชาแจ้งว่า การหายตัวไปครั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา และไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าว ทางสำนักงานอัยการสูงสุดจึงส่งเรื่องกลับมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง และส่งเรื่องต่อมายังศูนย์สอบสวนการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อพิสูจน์ทราบว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยเวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานเหล่านี้อยู่ และตั้งระยะเวลาทำงานไว้ที่ 6 เดือน จากนั้นจำประเมินว่าข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาเพียงพอหรือไม่ที่จะชี้ว่า ข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ไปในทิศทางใด โดยได้รับเรื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2564 แล้ว
ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสงานรณรงค์และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า หากนับตั้งแต่การที่ประเทศไทยร่วมลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่ปี 2550 และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. 2549 ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการศึกษาว่าจะบัญญัติฐานความผิดกรณีนี้ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือร่างเป็นกฎหมายแยกออกมาอีกฉบับ ซึ่งสุดท้ายพบว่าการร่างออกมาเป็นกฎหมายอีกฉบับจะให้การคุ้มครองสิทธิต่อผู้ทุกบังคับสูญหาย หรือผู้ทุกกระทำโดยการทรมานได้ครอบคลุ่มกว่า โดยเฉพาะฉบับที่ผลักดันและเสนอโดยภาคประชาชน
ทั้งนี้สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นั้น พบว่าในปีที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีร่างกฎหมายทั้งหมด 2 ฉบับด้วยกันคือ ร่างของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเสนอต่อสภาผู้แทนราาฎรเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 แต่กลับมีเหตุที่ต้องนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว กลับมาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานอีกครั้ง แม้ที่ผ่านมาร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการตรวจทานแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนไปแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายฉบับประชาชนด้วย โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2563 แต่ถึงที่สุดแล้วร่างกฎหมายทั้งสองฉบับก็ยังไม่เข้าสู่วาระการพิจารณา
สิตานัน กล่าวในเวทีเสวนาด้วยว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม นับเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุด จึงอยากขอบคุณทุกคนที่ยังยืนเคียงข้างกัน ที่ผ่านมาทางหน่วยงานของรัฐไทยและกัมพูชาปฏิเสธการอยู่เป็นของวันเฉลิมมาตลอด วันนี้ได้ไปยื่นหนังสือที่ DSI และสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งต่างก็บอกว่ายังดำเนินการสืบสวนอยู่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ได้รอมาขนาดนี้ก็จะให้เวลาต่อไปอีกสักหน่อย
อยากถามว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังมีความยุติธรรมให้ประชาชนอยู่หรือไม่ วันเฉลิมยังเป็นพลเมืองชาวไทยอยู่และไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ เพียงแค่ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อ คสช. ที่ยึดอำนาจมาเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น คสช. ได้ออกตามล่าวันเฉลิมจนน้องชายต้องหนีออกนอกประเทศ ส่วนตัวจึงมองว่าครอบครัวควรได้รับความเป็นธรรมบ้าง
"เราหมดความหวังไปตั้งแต่วันแรก เพราะทางการไทยไม่มีใครออกมาพูดเรื่องนี้เลย แม้เมื่อไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่มีใครให้ความร่วมมือ ไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐโทรมาถามว่าเกิดขึ้นจริงไหม ทั้งที่ทั่วโลกเห็นและประสานงานมายังเราโดยตลอด" สิตานันกล่าว และว่า "ทุกวันนี้ยังนอนไม่หลับเหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนยาเพื่อรักษาอาการตัวเองไปเรื่อยๆ อยากบอกว่าเราไม่อาจควบคุมการนอนได้
"สมองยังคิดตลอดว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร ทำอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีน้องๆ แกนนำหลายคนที่ถูกดำนเนินคดี เราจึงรู้สึกถูกกระตุ้นขึ้นมายิ่งทำให้ประเทศไทยไม่ปลอดภัย ภัยเริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัวเรื่อยๆ ทำให้คิดเสมอว่าจะต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร และต้องทำอะไรเพื่อจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อประเด็นนี้ให้ได้ เพราะที่ผ่านมารัฐกระทำการบางอย่างต่อผู้ที่ถูกบังคับทรมานและสูญหายมาอย่างยาวนาน ไม่อยากให้เกิดรายต่อๆ ไปทำให้ต้องออกมายืนหยัดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก"
ข้อมูลจากศูนย์ทนายควาในปี 2561 เปิดเผยว่า นับจากการรัฐประหาร 2557 พบว่ามีผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างน้อย 86 ราย โดยในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และผู้ที่เข้ารายงานตัวและพบว่าชีวติต่อจากนี้ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป รวมทั้งผู้ที่ถูกออกหมายเรียกคดี 112 โดยส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีบางส่วนที่มีสถานะทางสังคม และมีความพร้อมมากกว่าจึงลี้ภัยไปยังประเทศแถบยุโรป และอเมริกา
ทั้งนี้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างน้อย รายแม้จะอยู่ในประเทศอื่น คือ 1.กรณีของ อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ 2.วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ 3.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักปฏิวัติ และนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน 4.ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ(ถูกพบเป็นศพลอยขึ้นในแม่น้ำโขง) 5.ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง (ถูกพบเป็นศพลอยขึ้นในแม่น้ำโขง) 6.ชูชีพ ชีวสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) 7.สยาม ธีรวุฒิ และ 8.กฤษณะ ทัพไทย 9.วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์