เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 'มาร์ค เอสเปอร์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ลงนามร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในแถลงการณ์ 'วิสัยทัศน์ร่วม' ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย-สหรัฐอเมริกา 2020 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ขณะที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็ค่อยๆ รื้อฟื้นความร่วมมือและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่เคยระงับไปในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ปกครองประเทศ
เว็บไซต์ The Diplomat และสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า การลงนาม 'วิสัยทัศน์ร่วม' ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่มีเนื้อหาบางส่วนพาดพิงถึง 'อิทธิพลภายนอกที่อาจกดดันหรือแทรกแซงกิจการต่างๆ ภายในเอเชีย' เป็นการพาดพิงไปยัง 'จีน' เพราะช่วงที่สหรัฐฯ ระงับความร่วมมือบางด้านกับไทยหลังการรัฐประหาร ทำให้ไทยหันไปสานสัมพันธ์กับจีน ทำให้ความร่วมมือทางการทหารและด้านเศรษฐกิจการเมืองแน่นแฟ้นกว่าเดิม และในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ทางสหรัฐฯ ได้โน้มน้าวให้ไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีท่าทีเร่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เพราะต้องการป้องกันจีนไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลในเอเชียมากกว่าที่เป็นอยู่ และสิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ พยายามเสนอให้กับไทยหลังรื้อฟื้นความสัมพันธ์คือ ดีลการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยไทยได้สั่งซื้อยานเกราะ 'สไตรเกอร์' 70 คัน และเฮลิคอปเตอร์ AH-6i อีก 8 ลำจากสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,140 ล้านบาท แต่ก่อนหน้านี้ จีนก็ได้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ไทยเป็นจำนวนไม่น้อยแล้ว
รายงาน U.S. Weapons Sales to Thailand Have a New Competitor: China ของ 'บลูมเบิร์ก' ประเมินว่า ท่าทีของสหรัฐฯ ที่พยายามขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไทย ส่วนหนึ่งคือการแข่งขันกับจีนในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจจะทำให้ไทยตกอยู่ในสมรภูมิเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ แต่ไทยก็ดำเนินนโยบายประนีประนอม เพราะหลังจากลงนามร่วมกับสหรัฐฯ ไปไม่นาน ไทยก็ลงนามเกี่ยวกับความร่วมมือทางการทหารกับจีนเช่นกัน
พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (ผอ.สนผ.) กระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ซึ่งไม่อาจเลือกผู้ที่จะมาเป็นมิตรกับเราได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการพยายาม 'รักษาสมดุล' เพราะไทยไม่สามารถเลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่จะต้องเป็นมิตรกับทุกฝ่ายเท่านั้น
ส่วน SIPRI องค์กรระหว่างประเทศที่รวบรวมข้อมูลด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เปิดเผยว่า งบประมาณด้านกลาโหมของไทยคิดเป็นเงินรวมกว่า 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.3 แสนล้านบาท และจีนยังสามารถเสนอขายอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ในราคาที่ถูกกว่าสหรัฐฯ อีกด้วย จึงไม่ได้มีแค่ไทยที่หันมาพิจารณาซื้ออาวุธจากจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่รวมไปถึงปากีสถาน บังกลาเทศ และเมียนมา ซึ่งถือว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของจีน
เมื่อหลายประเทศในแถบเอเชียทุ่มงบประมาณในการซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์กันมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ประเทศเพื่อนบ้านหันมาสั่งซื้อและสั่งสมอาวุธเพิ่มขึ้นไปด้วย เห็นได้จากการที่จีนกลายเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกได้ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา และประเทศแถบเอเชียถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีน เพราะคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของยอดส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนทั้งหมด
จะเห็นได้ว่า การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ช่วยให้จีนมีความเติบโตทางธุรกิจในด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: