บล็อกของธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงาน The Thai economy: COVID-19, poverty, and social protection (เศรษฐกิจไทย: COVID-19 ความยากจน และการคุ้มครองทางสังคม) เมื่อ 28 เม.ย. โดยเป็นผลงานร่วมของนักเศรษฐศาสตร์ไทยและต่างประเทศ คือ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา, อาวินด์ แนร์, ฟรานเชสกา ลามานนา, แฮรี่ โมโรซ และ จูดี้ หยาง ทั้งยังมีฉบับที่เผยแพร่เป็นภาษาไทยที่ thaipublica.org
เนื้อหาในรายงานระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 'โควิด-19' มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสที่จะทบทวนนโยบายการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทีเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 และหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของรายงานระบุด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกชนชั้นทุกอาชีพในไทย ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง แต่ไทยยังขาดระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ที่ครอบคลุมคนยากจนอย่างทั่วถึง
ที่ผ่านมา "ประเทศไทยใช้เงินในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมน้อยกว่าประเทศอื่นๆ" อ้างอิงข้อมูลในปี 2558 "ไทยใช้เงินประมาณร้อยละ 3.7 ของจีดีพี ในการคุ้มครองทางสังคม เมื่อเทียบกับเวียดนามและจีนที่ใช้เงินร้อยละ 6.3 ส่วนประเทศที่มีรายได้สูง อย่างเกาหลีใต้ใช้เงินร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับจีน มาเลเซีย เม็กซิโก และประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศไทยยังขาดระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมคนยากจนอย่างทั่วถึง แม้ว่ามาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับคนจนจะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในเรื่องนี้ไปอีกขั้น" เนื้อหาในรายงานระบุ
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะสามารถลดผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยการขยายโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมไปยังกลุ่มเปราะบาง และทบทวนมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน?"
พร้อมกันนี้ยังอ้างอิงรายงานฉบับก่อนหน้าของธนาคารโลก เรื่อง “จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” ซึ่งระบุว่า "อัตราความยากจนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยสูงขึ้นเมื่อปี 2559 และ 2561 ขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ลดลงท่ามกลางการแพร่ระบาด การสูญเสียงานและรายได้ อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนไทยยิ่งขึ้น"
"เรื่องสำคัญเร่งด่วนลำดับแรกคือ การจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อความพยายามรับมือกับ COVID-19 เพื่อเน้นย้ำถึงความพยายามรับมือกับสถานการณ์ การรับรองผลประโยชน์ขั้นต่ำสำหรับกลุ่มคนเปราะบางมากที่สุด และการช่วยเสริมความพยายามของครัวเรือนและบุคคล เพื่อแบ่งปันความเสี่ยงกับภาครัฐ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก"
การดำเนินการนี้อาจเพิ่มการจัดสรรงบประมาณให้กับการคุ้มครองทางสังคมนอกเหนือจากการรับมือกับ COVID-19 อย่างเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยใช้งบประมาณในด้านการคุ้มครองทางสังคมในระดับเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดียวกัน"
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับ 'กลุ่มเปราะบาง' ในไทย มีรายงานจากองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้า ได้พูดถึง 'คนไร้บ้าน' ในไทย โดยระบุว่ารัฐบาลต้องใช้มาตรการดูแลรับมือที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นในช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิวสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด
รายงาน Covid-19 Curfew Arrests of Thailand’s Homeless: People Living on the Streets Can’t ‘Stay at Home’ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา กล่าวว่าคนไร้บ้านถูกจับกุมและปรับเงินที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีรายงานว่าคนไร้บ้านในพื้นที่อื่นๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพรายวันได้ ทั้งยังต้องเผชิญการตีตราจากสังคมว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่แพร่เชื้อไวรัสอีกด้วย
กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ 'เลลานี ฟาร์ฮา' ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ (right to adequate housing) กล่าวว่า บ้านหรือที่พักอาศัยเป็นด่านหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ HRW ระบุเพิ่มเติมว่า ที่พักพิงชั่วคราวซึ่งหน่วยงานรัฐจัดหาให้กับคนไร้บ้านไม่เพียงพอกับจำนวนคน มีปัญหาแออัด หรือมีทำเลอยู่ห่างไกลจากจุดที่คนไร้บ้านใช้ชีวิตและหารายได้ ทำให้คนเหล่านี้ไม่ประสงค์จะย้ายไปยังที่พักของรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: