รายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 มหาวิทยาลัยกว่างซีทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เผยแพร่แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย 50 ข้อ สำหรับนักศึกษาหญิงปี 1 ที่กำลังจะเข้าเรียนก่อนการเปิดภาคเรียนในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงข้อปฏิบัติสำหรับการแต่งกายด้วยการแนะนำนักศึกษาหญิงว่าอย่าสวมเสื้อหรือกระโปรงที่เปิดเผยมากเกินไป รวมถึงชุดเดรสคอลึก ชุดที่เปิดเผยเอวหรือหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดสิ่งยั่วยวนล่อใจ
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์สยืนยันว่า มีการห้ามนักศึกษาสวมเสื้อสายเดี่ยวในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยดังกล่าวด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยยังห้ามนักศึกษาสวมรองเท้าส้นสูงในบางสถานการณ์ด้วย
คำแนะนำของมหาวิทยาลัยกว่างซีกลายเป็นประเด็นร้อนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยบางคนบอกว่านี่เป็นคำแนะนำที่ผิดทิศทาง สถาบันการศึกษาควรให้ความรู้นักศึกษาชายให้เคารพผู้หญิงไม่ว่าเธอจะแต่งตัวอย่างไรก็ตาม แทนที่จะขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทบทวนตัวเอง ขณะที่บางคนก็บอกว่าแม้คู่มือความปลอดภัยดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการปกป้องนักศึกษาหญิง แต่ความจริงแล้วกลับทำให้ปัญหาการเหมารวมทางเพศยิ่งแย่ลงด้วยการทึกทักเอาว่า การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นเพราะการแต่งตัวของผู้หญิง โดยแฮชแท็กเกี่ยวกับคำแนะนำด้านความปลอดภัยของนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยกว่างซีบนแพลตฟอร์มเวยป๋อได้จำนวนยอดวิวถึง 200 ล้านวิว
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยกว่างซียังไม่ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ ขณะที่เมื่อปีที่แล้วก็มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมณฑลจี๋หลินสั่งห้ามนักศึกษาหญิงสวมกระโปรงสั้นและเสื้อสายเดี่ยวจนทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มาแล้ว
กระแส #MeToo ในจีน ความเคลื่อนไหวที่ยังไม่สิ้นหวัง
"Me Too" เป็นวลีที่ถูกเริ่มใช้เมื่อปี 2549 โดย 'ทารานา เบิร์ก' นักกิจกรรมทางสังคมชาวอเมริกันเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนที่วลีนี้จะถูกใช้แพร่หลายจนเป็นปรากฏการณ์ในอีก 11 ปีต่อมา หลังนักแสดงหญิงชื่อดัง 'อลิซซา มิลาโน' ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้หญิงหลายคนที่ออกมาเปิดเผยว่าเคยถูก 'ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน' โปรดิวเซอร์มือทองของวงการฮอลลีวูดล่วงละเมิดทางเพศ ได้ออกมาทวีตข้อความที่กลายเป็นไวรัล เชิญชวนคนที่เคยถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศเข้ามาตอบข้อความว่า "Me Too" เพื่อเป็นช่องทางให้คนที่ถูกคุกคามทางเพศได้ส่งเสียง และสะท้อนว่านี่เป็นปัญหาที่คนจำนวนมากแค่ไหนต้องประสบ จนเกิดเป็นกระแสการติดแฮชแท็ก #MeToo แสดงพลังต่อต้านการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ส่วนในจีนความเคลื่อนไหว #MeToo ปรากฏขึ้นบนโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2561 ซึ่งกรณีแรกที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนคือกรณีที่ 'ลั่ว ซีซี' อดีตนักศึกษาออกมาเปิดเผยผ่านเวยป๋อว่าเคยถูก 'เฉินเสี่ยวอู่' ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยหางในกรุงปักกิ่งล่วงละเมิดทางเพศ โดยลั่วบอกว่าที่ออกมาเปิดเผยเพราะได้แรงบันดาลใจจากทั้งเหตุการณ์ของไวน์สตีนและโพสต์จากเหยื่อคนอื่นๆ ที่ออกมาเปิดเผยว่าเคยถูกศาสตราจารย์เฉินล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในที่สุดนายเฉินได้ถูกปลดจากตำแหน่งรองอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยดังกล่าวและเพิกถอนหนังสือรับรองการสอน รวมถึงยังเริ่มจุดประเด็นถกเถียงเรื่องการคุกคามทางเพศในสังคม แม้จีนจะเป็นรัฐที่มีการเซ็นเซอร์ความคิดเห็นเข้มงวดก็ตาม
กิจกรรมเคลื่อนไหวระดับประชาชนมักถูกมองด้วยความคลางแคลงจากทางการจีน โดยขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo ก็มักถูกเซ็นเซอร์เช่นเดียวกัน ทางการได้ปิดบัญชีโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนสิทธิสตรีหลายบัญชีและห้ามการค้นหาวลีที่เกี่ยวข้องกับ #MeToo ในขณะที่มีนักกิจกรรมหลายคนถูกจับกุม ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจีนหันไปใช้คำว่า #MiTu’ (หมี่ทู่) ที่แปลว่า ‘ข้าว กระต่าย’ ซึ่งเป็นคำที่พ้องเสียงกับคำว่า MeToo (มีทู) แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของทางการ
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหว #MeToo ในจีนดูจะได้รับชัยชนะเล็กๆ ในปีนี้ หลังจากที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนได้ออกกฎหมายนิยามเป็นครั้งแรกว่าการกระทำอะไรที่สามารถจัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศ รวมถึงให้โรงเรียนและองค์กรอื่นๆ มีความรับผิดชอบในการป้องกันและจัดการการคุกคามลักษณะดังกล่าว โดยถึงแม้สังคมจีนยังคงมีทัศนคติดั้งเดิมที่ไม่เคารพสิทธิของผู้หญิง อย่างเช่นการที่ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศก็มักถูกมองว่าพวกเธอเองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำเหล่านั้นเนื่องจากแต่งตัวหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทัศนคติเก่าๆ เหล่านี้ก็กำลังถูกท้าทายมากขึ้น
อ้างอิง The Straits Times / Reuters / BBC