ไม่พบผลการค้นหา
15 ก.ค.นี้จะเป็นวันแรกที่เปิดลงทะเบียนรับสิทธิตามโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' ที่รัฐบาลประกาศนำงบ 2.24 หมื่นล้านบาทจากวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ออกมากระตุ้นกำลังซื้อ ต่อลมหายใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการด้วยกำลังซื้อของคนภายในประเทศ ในภาวะที่ลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้ แต่โครงการที่ดำเนินการเพียง 3-4 เดือนนี้ ก็ไม่อาจจะชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างชาติปีละกว่า 2-3 ล้านล้านบาทได้

​ขึ้นชื่อว่า 'เงิน' เป็นใครก็คงอยากได้ ยิ่งในสภาพที่เศรษฐกิจไทยกำลังเพลี้ยงพล้ำให้กับไวรัสโควิด-19 ประชาชนตาดำๆ ยิ่งต้องการการช่วยเหลือด้วยเม็ดเงินจากรัฐบาลมาค้ำยันไม่ให้ชีวิตที่เปราะบางพังครืน

​มาตรการแจกเงิน ที่ในยามปกติเหมือนนโยบายสายล่อฟ้า รัฐบาลประกาศใช้เปรี้ยงทีไร เรียกเสียงวิจารณ์ฟาดใส่จนไหม้กรอบ ​แต่ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของไวรัสร้าย นโยบายนี้กลับกลายเป็นข้อยกเว้น เพราะไม่ใช่แค่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยที่ต้องงัดไม้นี้มาใช้กับการแจกลอตแรก 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน แม้กระทั่งญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ประเทศเศรษฐกิจพุ่งทะยานติดระดับโลก ยังต้องใช้เม็ดเงินจากรัฐบาลมาเป็นนโยบายขัดตาทัพ

​ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นจัดให้ประชาชนเบาๆ คนละ 1 แสนเยน (ราว 2.9 หมื่นบาท) และเกาหลีใต้แจก 1 ล้านวอน (ราว 2.6 หมื่นบาท) สำหรับครอบครัวขนาด 4 คน

ทว่าหากเจาะลึกถึงการงัดนโยบายใช้เงินอัดฉีดเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขาแรกภายใต้ชื่อ "เราเที่ยวด้วยกัน" วงเงินที่ใช้ 2.24 หมื่นล้านบาท ต้องนับว่าประเทศไทย มาเร็วและมาล้ำไม่แพ้ชาติไหน

ท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ travel backpacker

​ปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก หากส่องไปที่สัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวต่อจีดีพีที่เกือบจะเหยียบร้อยละ 20 ไม่ต้องจินตนาการ ก็เห็นภาพชวนขนลุกคาตาอยู่ทุกวันว่า สนามบินที่ร้างเปล่า ถนนคนเดินที่ไร้เงานักท่องเที่ยวจับจ่ายคึกคัก จะสร้างความซึมลึกทางเศรษฐกิจของประเทศได้น่ากลัวแค่ไหน ถ้าไม่เร่งมาตรการใดออกมาช่วยเหลือ

​เพราะลำพังผู้ประกอบการจะหวังรอเงินเยียวยาธุรกิจจากธนาคารพาณิชย์ ชั่วโมงนี้บอกได้เลยว่า "ยาก" แม้จะกันวงเงินกู้เป็นหลักหมื่นล้านบาทให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้เฉพาะท่องเที่ยว ​แต่ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการจำนวนกว่าร้อยละ 90 ยังเข้าไม่ถึง เพราะติดหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ไม่ผ่าน โดยเฉพาะเรื่องบัญชีที่ต้องไม่มีปัญหามา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องยากของกลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ที่มีรูปแบบการทำบัญชีแบบเงินหมุนไปมา สถานะจึงไม่เสถียรพอจะเป็นเครื่องการันตีให้ธนาคาร (ที่ก็กำลังหวั่นใจกับเรื่องหนี้เสีย) ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ให้ได้

ความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในประเทศตอนนี้ทั้งมวล จึงรออยู่ ณ วันที่ 15 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

​เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นักเที่ยวชาวไทย ต้องฝึกปรือความไวรีบลงทะเบียนรับสิทธิสนับสนุนค่าที่พักและตั๋วเครื่องบินร้อยละ 40 (สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับที่พักจำนวนสูงสุด 5 คืน และสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทสำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน)

​ทว่าได้รับสิทธิไปนอนกอดอย่างเดียวไม่พอ เนื่องจากโครงการมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้คนจ่ายเม็ดเงินออกไปสู่ระบบให้เร็วที่สุด จึงกำหนดหลักเกณฑ์กลัดติดมาด้วยว่า ต้องรีบนำสิทธินั้นไปจองและชำระให้กับผู้ประกอบการ เป็นการยืนยันว่าพร้อมเดินทางแน่นอน โดยในเว็บไซต์ "เราเที่ยวด้วยกัน" จะอัปเดตให้ทราบว่ามีงบประมาณคงเหลือที่รัฐจะสนับสนุนอีกเท่าไร

​นับตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการ เพียงปล่อยหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วม ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านแว่วเข้าหู เนื่องจากรัฐบาลขอสงวนสิทธิให้กับผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อน ซึ่งทั่วประเทศไทยมีจำนวนอยู่ราว 8 แสนกว่าห้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ทำถูกกฎหมายได้รับประโยชน์ก่อน

โรงแรม

​ตามหลักการเผินๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นกติกาที่ยุติธรรม แต่หากล้วงลึกถึงไส้ใน ประเทศไทยที่มีปัญหาหมักหมมเรื่องห้องพักผิดกฎหมายมานาน ก็คล้ายกับการตัดการมีส่วนร่วมของโรงแรมมากกว่าครึ่ง หรืออีกราว 1 ล้านห้องทั่วทั้งประเทศออกไปโดยปริยาย

ปัญหานั้นอยู่ที่ว่า โรงแรมที่ผิดกฎหมายเหล่านั้น มีจำนวนไม่น้อยเลยที่อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต และรอกระบวนการที่แสนเนิ่นนานของแต่ละจังหวัด

​หรือบางแห่งอยากจะจดทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ก็ถูกหลักเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้เข้าระบบง่ายๆ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์เรื่องอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่บางครั้งไม่เอื้อให้กับกิจการขนาดเล็กที่แทรกกายอยู่ท่ามกลางชุมชน และไม่อาจปรับปรุงอะไรได้มาก

ผู้ประกอบการในกลุ่มสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จึงสะท้อนให้เห็นอุปสรรคข้อนี้ ซึ่งกลายเป็นการบ้านให้ภาครัฐต้องมานั่งคิดสำหรับการกระตุ้นที่อาจมีขึ้นในก๊อกสองว่า จะทำอย่างไรให้อยู่ในกติกาที่ยังสวยงาม ทว่าหว่านโปรยผลประโยชน์อย่างทั่วถึง

​ปัญหาต่อไปคืออยู่ที่ตัวผู้บริโภคเองว่า จะเลือกเก็บออมวันนี้แล้วเที่ยววันหน้า ปล่อยให้สิทธิครั้งนี้ลอยผ่านไปก่อนหรือไม่ โดยปล่อยให้คนยังมีกำลังจับจ่ายได้ล่วงหน้าไปก่อน

​รูปการณ์ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นนับตั้งแต่ต้น เพราะเริ่มจากการวางนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวไม้นี้ออกมาในตอนแรก ผู้คิดกลไกตัวนี้เขาหมายตามาแต่แรกแล้วว่า จะพุ่งเป้าไปที่คนที่ยังมีสภาพคล่องเหลือสำหรับการจับจ่าย ​จำกัดวงให้แคบเข้าก็คือ คนไทยหัวใจท่องเที่ยว ซึ่งในปีที่แล้วมีการเดินทางออกไปท่องโลกราว 11-12 ล้านคน ใช้จ่ายขั้นต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท

นักท่องเที่ยว โควิด  โคโรนา สุวรรณภูมิ

​ทว่าเมื่อน่านฟ้าไม่เปิด และความกลัวไวรัสยังฝังใจ ภาครัฐจึงหวังว่ากลุ่มคนเหล่านี้ที่ยังลังเล จะได้มาตรการสนับสนุนการเงินเป็นตัวกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่าย ทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดกว่า 7 แสนล้านบาทในระยะมากกว่า 4 เดือนของโครงการนี้ (ก.ค.-ต.ค.2563)

​ตัวเลขสูงลิบดังกล่าวอาจไม่ไกลเกินความจริงเกินไป ถ้าหันมาดูข้อเท็จจริงอีกด้านที่ปรากฎผ่านตัวกลางที่เรียกว่าออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) ที่เริ่มเห็นการเซลกระหน่ำโรงแรมหรูแบบไม่เคยมีมาก่อน แบรนด์ดังที่คนชั้นกลางเคยเข้ามาไม่ถึง ก็ย่อตัวลงมาแบบราคาเป็นมิตรให้ผู้คนได้ลองใช้บริการ

​เป้าหมายอาจจะคล้ายคลึงกับรัฐบาลไต้หวัน ที่ออกกลยุทธ์ให้คนยอมควักเงิน 1,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อแลกกับบัตรกำนัลมูลค่า 3,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการด้านพักผ่อนและความบันเทิง เช่น ร้านอาหาร, โรงแรง, ร้านทำผม, ห้างสรรพสินค้า, คอนเสิร์ต แต่สำหรับไต้หวัน แม้ผู้ที่มีรายได้ต่ำก็มีส่วนร่วมได้ โดยรัฐบาลจะโอนเงิน 1,000 บาทเข้าบัญชี เพื่อให้มาจับจ่ายบัตรกำนัลนี้อีกครั้ง

​ตัดกลับมาประเทศไทย ต่อไปนี้ภาพรถติดในเส้นทางออกนอกเมืองในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะเป็นภาพที่เห็นเจนตาไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ทว่าสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ หลังจากพ้นช่วงอัดฉีดไปแล้ว คนจับจ่ายกันไปจนเกือบหมดหน้าตัก ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เวียนมาอีกครั้งในปลายปี จะยังมีมนต์ขลังในตัวเองเพียงพอที่จะดึงดูดให้คนออกมาเที่ยวได้หรือไม่ สุขภาพกระเป๋าเงินของคนชั้นกลาง จะยังดีอยู่หรือเปล่า ​และนับเนื่องต่อไปอีก 3-4 เดือนที่ไทยยังน่าจะขาดไร้กำลังซื้อต่างชาติ ตลาดขาใหญ่ที่ครองสัดส่วน 2 ใน 3 ของรายได้กว่า 3.1 ล้านล้านบาทของไทยในปี 2562 เชื่อว่าตลาดคนไทย ก็อาจทำได้แค่ประคองสถานการณ์ไม่ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้มหายไปมากกว่านี้

​นับเป็นการเดิมพันสถานการณ์ที่เปราะบาง ตราบใดที่ยังไม่มีการค้นพบวัคซีนที่จะมาคลายกังวลการระบาดซ้ำระลอกใหม่ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :