รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางเข้าพบผู้อำนวยการ ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อสอบถามทางเรือนจำ กรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสังคมวิทยาฯ และคณะรัฐศาสตร์ เคยทำหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์ ขอให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือแพนกวิน เข้าถึงสิทธิในการศึกษาให้นักศึกษาได้เข้าถึงตำรา และ ปรึกษาอาจารย์เรื่องการเรียนได้ว่า การอนุญาตหรือไม่เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ เรือนจำไม่สามารถตัดสินใจได้ โดยในขณะนี้ ยังไม่ได้รับคำสั่งจากกรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องไปติดตามโดยตรงจากกรมราชทัณฑ์
บุญเลิศย้ำว่า หลักการสำคัญผู้ถูกกล่าวหา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และการได้ประกันเป็นสิทธิของทุกคน ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักศึกษา ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว มหาวิทยาลัยและคณะสังคมวิทยา จึงเห็นว่านักศึกษาควรเข้าถึงสิทธิในการศึกษา ทั้งหนังสือเรียน หรือช่องทางสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน ได้พูดคุยกัน
ด้าน ยุกติ เสริมว่า เรื่องสิทธิในการประกันตัวเป็นประเด็นที่ได้เน้นย้ำมาตลอด ทั้งในส่วนของหลักกฎหมายหลักสากล จึงอยากร้องขอไปยังกรมราชทัณฑ์ว่าอย่างน้อยที่สุด ต้องให้โอกาสนักศึกษาได้เข้าถึงตำราเรียน ยืนยันว่าไม่มีประเด็นใดเสียหาย ดังนั้นการที่ ปนัสยา และพริษฐ์ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี แต่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา อาจถูกมองจากนานาชาติว่าเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงหลักการขั้นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน
ส่วนประเด็นการอดอาหาร รศ.ยุกติไม่ขอก้าวล่วงแต่การตัดสินใจเช่นนี้ อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้เห็นปัญหา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะตัดสินใจอย่างไร อย่างไรก็ตามในอีกแง่มุมหนึ่งสังคมต้องทำความเข้าใจว่า ทั้งสองคนไม่ได้อดอาหารเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหา โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากระบบตุลาการ
สำหรับกิจกรรมยืนหยุดขัง บุญเลิศ มองว่าเป็นการแสดงออกของคนธรรมดาที่ไปยืนเชิงสัญลักษณ์ และการที่มีคนออกมาร่วมขยายวงเพิ่มขึ้น ก็บอกได้ถึงความไม่สบายใจ ต่อสิทธิในการประกันตัวที่หลายคนยังไม่ได้รับ ทั้งนี้มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่กิจกรรมดังกล่าวได้ขยายตัวไปในไปหลายจังหวัด ขณะที่ยุกติ ไม่เชื่อว่าสถาบันตุลาการจะมีความคิดความเห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นตุลาการควรลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของตุลาการเอง โดยเฉพาะการยึดหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ต้องให้สิทธิประกันตัวกับทุกคน
พร้อมยืนยันว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่มีใครอยู่เบื้องหลังเป็นการตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งหลายประเด็นรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันควรรับฟังสิ่งที่นักศึกษาคิด ซึ่งสังคมควรพูดคุยเรื่องดังกล่าวอย่างมีอารยะ