ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2554 แอนเดอส์ เบรวิก จุดชนวนระเบิดปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต ณ อาคารของรัฐในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ก่อนที่ในเวลาชั่วโมงครึ่งต่อมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หน่วยกู้ภัยกำลังเข้าระงับเหตุ เบรวิกได้ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมมุ่งหน้าไปสู่เกาะอูเตอยา สถานที่ตั้งของค่ายสันนิบาตเยาวชนกรรมกรของพรรคแรงงานนอร์เวย์ ซึ่งกำลังจัดกิจกรรมค่ายฤดูร้อนกันอยู่

เบรวิกเดินทางมาถึงตัวค่ายฤดูร้อนของพรรคแรงงาน เขาใช้อาวุธกราดยิงและสังหารเยาวชนในค่าย ส่วนมากเป็นเพียงแค่วัยรุ่น เหตุกราดยิงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีก 69 ราย เบรวิกยังตั้งเป้าหมายที่จะสังหาร กรู ฮาเล็ม บรึนต์ลันน์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงนอร์เวย์ ซึ่งเธอดันยกเลิกกำหนดการเดินทางเยือนค่ายเยาวนชนในวันนั้นพอดี ส่งผลให้เบรวิกเลือกกราดยิงผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่อยู่ในค่ายแบบไม่เลือกหน้าแทน

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวนอร์เวย์ทั้งชาติ เหตุด้วยนอร์เวย์เองมีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืนที่เข้มงวด โดยก่อนหน้านั้น นอร์เวย์พบกับเหตุกราดยิงอยู่เพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อปี 2531 หลังจากผู้ลงมือก่อเหตุซึ่งมีอาการทางจิตอย่างรุนแรง เข้ากราดยิงผู้คนด้วยปืนลูกซอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีก 2 ราย นับแต่นั้นมาอีก 2 ทศวรรษ ที่นอร์เวย์ไม่พบกับเหตุกราดยิงอีกเลย

เหตุกราดยิงของเบรวิก ถูกรัฐบาลนอร์เวย์จัดประเภทว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศนอร์เวย์มาเพียงแค่ 2 ครั้ง นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้แก่ เหตุการณ์วางระเบิดใส่ร้านหนังสือกลุ่มฝ่ายซ้ายเมื่อปี 2520 และการขว้างระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมโดยสันติเมื่อปี 2522

เหตุการณ์วางระเบิดและกราดยิงโดยเบรวิก ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบสุ่ม เข้าตั้งใจวางระเบิดบริเวณอาคารของรัฐ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ไขว้เขว ช่วยให้เขามีเวลามุ่งหน้าต่อไปยังค่ายฤดูร้อนของพรรคแรงงาน สถานที่ที่เข้าใช้ก่อเหตุกราดยิง สถานที่ที่จะผลิตนักการเมืองฝ่ายซ้ายคนสำคัญในอนาคตของนอร์เวย์ จากรายงานเปิดเผยว่า 1 ใน 4 ของชาวนอร์เวย์ ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ในครั้งนี้

เหตุสะเทือนขวัญนี้ ส่งผลกระทบกับนอร์เวย์อย่างมหันต์ ‘วอยซ์’ พาไปทบทวนบทเรียนจากการกราดยิงนอร์เวย์เมื่อ 11 ปีก่อน พร้อมย้อนดูสิ่งที่รัฐบาลนอร์เวย์ทำ ตั้งแต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การตั้งคณะกรรมาธิการสืบสวนสอบสวนที่โปร่งใส ไปจนถึงนอร์เวย์ในวันนี้หลังเหตุกราดยิงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปกว่า 77 ราย


เงินชุบชีวิตไม่ได้ แต่ต้องรับประกันคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้

หลังเกิดเหตุกราดยิง รัฐสภานอร์เวย์ได้เสนอการเพิ่มจำนวนเงินเยียวยาให้แก่เหยื่ออาชญากรรมรุนแรง เพื่อมอบให้แก่เหยื่อจากเหตุในลักษณะดังกล่าว โดยรัฐสภานอร์เวย์ระบุว่า การเพิ่มเงินเยียวยาเหยื่อจากเหตุอาชญากรรมรุนแรง เป็นผลมาจากการเกิดเหตุสังหารหมู่ 77 ศพ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2554 ณ สถานที่ราชการของกรุงออสโล และค่ายฤดูร้อนของพรรคแรงงานบริเวณเกาะอูเตอยา

คณะกรรมการความยุติธรรมถาวรแห่งรัฐสภานอร์เวย์ รวมถึงกระทรวงยุติธรรมนอร์เวย์ ได้ตัดสินใจขึ้นเงินเยียวยาเหยื่อจากอาชญากรรมรุนแรงเป็นจำนวน 4.75 ล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ให้เป็นเงินขีดสูงสุดที่ใช้มอบเพื่อการเยียวยาแก่บุคคลแต่ละคนที่เข้าเกณฑ์รับสิทธิ์ หลังจากที่ค่าเยียวยา ณ ตอนนั้นมีอยู่ที่ 3.1 ล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณ 11 ล้านบาท) โดยไม่เพียงแต่เหยื่อของเหตุกราดยิง 77 ศพเท่านั้น แต่เหยื่อจากเหตุอาชญากรรมรุนแรงรายอื่นๆ จะมีสิทธิ์รับเงินเยียวยาจำนวนดังกล่าวต่อคนได้ด้วย

ทั้งนี้ เงินเยียวยาที่รัฐสภานอร์เวย์พิจารณา มีการกำหนดอัตราสูงสุดและต่ำสุดภายใต้ มาตรา 11 ของพระราชบัญญัติการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมรุนแรง โดยจำนวนเงินเยียวยาสูงสุดคิดจากอัตรา 40 เท่าของเงินพื้นฐานประกันสังคมของนอร์เวย์ ตามพระราชบัญญัติประกันภัยแห่งชาติของประเทศ ทั้งนี้ รัฐสภานอร์เวย์ได้จัดสรรงบ 185 ล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณ 660 ล้านบาท) จากปีงบประมาณ 2555 เพื่อจ่ายเยียวยาให้แก่เหยื่อเหตุการณ์ก่อการร้ายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ทนายความและตัวแทนทางกฎหมาย ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์กราดยิง ได้เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมนอร์เวย์เพิ่มเงินเยียวยาให้มากขึ้นกว่าเดิม “เนื่องจากเหยื่อหลายคนเป็นคนหนุ่มสาว” พร้อมแนะนำให้ภาครัฐจัดสรรเงิน 25 ล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณ 89 ล้านบาท) แก่หน่วยงานเยียวยาการบาดเจ็บทางอาญาของนอร์เวย์ และเงินอีก 5 ล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณ 17 ล้านบาท) จัดสรรให้แก่หน่วยงานกิจการพลเรือนนอร์เวย์


การรำลึกหลังความสูญเสีย

ในขณะที่การสืบสวนสอบสวนดำเนินต่อไป รัฐบาลและชาวนอร์เวย์ได้เดินหน้าต่อ เพื่อการรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิต โดยสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ ทรงส่งความเสียพระทัยไปยังเหยื่อ และครอบครัวของเหยื่อ พร้อมขอให้ประเทศยังทรงขอให้ประชาชนสมัครสมานสามัคคี อีกทั้งยังทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีซอนยาแห่งนอร์เวย์ เพื่อทรงเยี่ยมเหยื่อจากการกราดยิง และครอบครัวของเหยื่อที่ถูกสังหาร

ในการแถลงช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นภายหลังจากการกราดยิง เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ในขณะนั้น และ คนุท สโตร์เบอร์เก็ท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกแถลงต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยสโตลเทนเบิร์กเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “โศกนาฏกรรมระดับชาติ” และเป็นความโหดร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในนอร์เวย์ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

สโตลเทนเบิร์กยังย้ำอีกว่า เหตุการณ์กราดยิงในครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อประชาธิปไตยของนอร์เวย์ พร้อมยืนยันว่า นอร์เวย์จะตอบรับกับเหตุดังกล่าวด้วย “ประชาธิปไตยที่มากขึ้น การเปิดกว้างที่มากขึ้น แต่ไม่ใช่ความไร้เดียงสา” พร้อมกับการเน้นย้ำว่า “ไม่มีใครพูดได้ดีกว่าเด็กหญิงจากสันนิบาตเยาวชนกรรมกร ที่ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ‘ถ้าชายคนหนึ่งจะสามารถแสดงความเกลียดชังที่มากมายขนาดนี้ คิดถึงความรักมากมายที่เราจะสามารถแสดงออกมาได้ และการยืนเคียงข้างกันสิ’”

ต่อมาในวันที่ 1 ส.ค. 2554 รัฐสภาของนอร์เวย์ซึ่งเดิมมีกำหนดหยุดพักการประชุมช่วงฤดูร้อน ได้จัดประชุมพิเศษ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตี โดยมีสมเด็จพระเจ้าฮารัลด์ที่ 5 และมกุฎราชกุมารฮากอนเสด็จมาร่วมการประชุมด้วย ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาของนอร์เวย์ ได้อ่านชื่อเหยื่อทั้งหมด 77 ราย อีกทั้งยังประกาศให้วันที่ 21 ส.ค.ในนอร์เวย์ เป็นวันไว้ทุกข์ระดับชาติ เพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย

ภายหลังจากเหตุก่อการร้าย มีการจัดงานรำลึกในหลายครั้ง โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2554 ประชาชนทั่วนอร์เวย์มารวมตัวกันใน “ขบวนแห่ดอกกุหลาบ” ณ กรุงออสโล ตลอดจนการจัดคอนเสิร์ตรำลึก ภายใต้การร้องเพลง “Mitt lille land” (แผ่นดินเล็กๆ ของฉัน) ซึ่งเป็นเพลงสัญลักษณ์แทน “ความโศกเศร้าที่ผู้คนมากมายผ่านมา” ในมหาวิหารออสโล ในวันที่ 30 ก.ค. 2564 อีกทั้งยังมีการจัดงานไว้อาลัยระดับชาติในวันที่ 21 ส.ค. 2554


การเปลี่ยนกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดกว่าเดิม

ในช่วงที่มีการเกิดเหตุกราดยิงในนอร์เวย์ ประเทศแห่งนี้มีกฎหมายอนุญาตให้ผู้มีอายุเกิน 18 ปี สามารถครอบครองอาวุธปืนได้ และต้องให้เหตุผล “สมเหตุสมผล” ในการครอบครองอาวุธปืน อีกทั้งยังสามารถใช้ปืนไปกับการล่าสัตว์และการแข่งขันทางกีฬาได้ ทั้งนี้ เบรวิกซึ่งเป็นมือปืนผู้ก่อเหตุไ ด้รับอาวุธของเขาอย่างถูกกฎหมาย ผ่านใบอนุญาตล่าสัตว์และเป็นสมาชิกชมรมปืนพก

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการผลักดันการแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนในนอร์เวย์เป็นไปอย่างล่าช้า แม้ว่าคณะกรรมการอิสระจะแนะนำ ให้มีการกระชับกฎการถือครองอาวุธปืนในปี 2554 แต่รัฐสภานอร์เวย์เพิ่งผ่านกฎหมายแบนการครอบครองอาวุธกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการทางกระบวนการร่างกฎหมายต่อจากนั้นอีก 2 ปี ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว

การสั่งแบนอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ส่งผลให้เจ้าของปืนที่มีอาวุธกึ่งอัตโนมัติอยู่ ต้องเลิกใช้ปืนเหล่านั้นทันที รวมทั้งห้ามการขายอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติในอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าของปืนประมาณ 2,000 คนในนอร์เวย์ที่มีประชากรอยู่ 5.3 ล้านคน

จากสถิติในปี 2560 มีอาวุธปืน 1,329,000 กระบอก หรือคิดเป็นอัตราส่วนผู้ครอบครองอาวุธปืนต่อผู้ไม่มีอาวุธปืนราว 25 ต่อ 100 คน ซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ถือครองอาวุธปืนจำนวน 486,028 ราย หรือราว 9% ของประชากรในนอร์เวย์


คณะสืบสวนนอร์เวย์เผย ตำรวจสามารถระงับเหตุกราดยิงได้ก่อน

หลังจากเกิดเหตุกราดยิงได้ราว 1 เดือน คณะกรรมาธิการสืบสวนสอบสวนของรัฐบาลนอร์เวย์ ออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนอร์เวย์ สามารถระงับเหตุบางส่วนหรือทั้งหมด จากการกราดยิงของเบรวิกได้ แต่กลับปล่อยให้เกิดการวางระเบิดและกราดยิง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 77 ราย

คณะกรรมาธิการสืบสวนสอบสวนเหตุกราดยิงระบุว่า หน่วยข่าวกรองอาจได้รับรู้เกี่ยวกับแผนการของเบรวิก ในช่วงหลายเดือนก่อนที่เขาจะก่อเหตุการโจมตี จนกลายมาเป็นการสังหารหมู่ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อันสงบสุขของนอร์เวย์ รายงานของคณะกรรมาธิการกล่าวอีกว่า อาคารของรัฐบาลที่เบรวิกวางระเบิดใส่ควรได้รับการปกป้องที่ดีกว่านี้ และเบรวิกควรจะถูกหยุดก่อนที่เขาจะลงมือยิงเหยื่อหลายสิบคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นบนเกาะอูเตอยา

“จากเหตุการณ์โดยรวมแล้วนั้น 22 ก.ค. เผยให้เห็นถึงความขาดแคลนอย่างร้ายแรง ในการเตรียมความพร้อมต่อกรณีฉุกเฉินของสังคม และความสามารถในการหลีกเลี่ยงภัยคุกคาม” คณะกรรมาธิการกล่าว “ความท้าทายกลายมาเป็นปัญหา ด้านความเป็นผู้นำและการสื่อสาร มากไปจนถึงการขาดบุคลากรตอบสนองต่อเหตุ” รายงานคณะกรรมาธิการระบุ

จากการสืบสวนสอบสวน คณะกรรมาธิการพบว่า เจ้าหน้าที่ได้รับทราบถึงกิจกรรมที่น่าสงสัยของเบรวิก หลายเดือนก่อนที่เขาซื้อสินค้าที่สามารถใช้ทำระเบิดได้ แต่ความล้มเหลวของหน่วยข่าวกรองส่งผลให้เบรวิกไม่อยู่ในรายการชื่อผู้ถูกเฝ้าระวัง นอกจากนี้ อาคารของรัฐควรได้รับการปกป้องที่ดีขึ้นมาก หลังจากมีรายงานระบุว่า ตัวอาคารมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเมื่อหลายปีก่อน แต่รัฐบาลกลับใช้เวลาโต้เถียงกันเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็น ส่งผลให้การออกมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นไปด้วยความล่าช้า และแทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ

คณะกรรมาธิการยังระบุอีกว่า หลังจากเหตุระเบิด พยานในที่เกิดเหตุซึ่งโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกำลังพยายามอธิบายรูปพรรณสัณฐานของเบรวิก ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รับการส่งไปยังเจ้าหน้าที่บริเวณสถานที่เกิดเหตุภายในเวลากว่า 20 นาที

คณะกรรมาธิการชี้ว่า ตำรวจควรฝึกซ้อมเพื่อป้องกันการโจมตีหลายครั้ง แต่ด้วยความเป็นผู้นำที่อ่อนแอและความระส่ำระสายทำให้เกิดความล่าช้า จนเกิดให้เกิดเหตุสลดขึ้น นอกจากนี้ ทหารยังไม่ได้รับแจ้งเหตุในทันที เจ้าหน้าที่ตำรวจยังหาเฮลิคอปเตอร์ไม่เจอ และเรือที่ควรจะใช้เพื่อการขนส่งกองกำลังพิเศษไปยังเกาะที่เกิดเหตุกราดยิง กลับไม่สามารถบรรทุกสิ่งของที่จำเป็นไปได้

ผลจากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ ถือเป็นความอับอายครั้งใหญ่สำหรับกองกำลังความมั่นคง แต่รัฐมนตรียุติธรรมและหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทันทีหลังเกิดการโจมตี ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสหลายคนที่เกี่ยวข้องถูกสั่งย้ายในทันที สโตลเทนเบิร์กในฐานะนายกรัฐมนตรี ยังออกมากล่าวยอมรับว่าตนต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของหน่วยข่าวกรองและตำรวจ “(เรา) ใช้เวลานานเกินไปในการจับกุมผู้กระทำความผิด และตำรวจควรไปที่อูเตยาก่อนหน้านี้ นี่เป็นสิ่งที่ผมเสียใจ” สโตลเทนเบิร์กกล่าว

เหตุกราดยิงไม่ใช่สิ่งที่ระงับเอาไว้ก่อนไม่ได้ การจัดการของภาครัฐ ทั้งการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ล้วนมีบทบาทอย่างสำคัญในการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุกราดยิงในครั้งต่อไป กระบวนการเยียวยา การสืบสวน และการแก้ไขจากนอร์เวย์ ต่อความสูญเสียทั้ง 77 ชีวิตจากเหตุกราดยิง อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐไทยนำมาปรับใช้ได้

 

ที่มา:

https://www.loc.gov/item/global-legal-monitor/2012-03-01/norway-crime-victims-compensation-to-be-increased-after-july-2011-massacre/?fbclid=IwAR27ZumkTF7Flg0psq4ZxnvAnYIVUsSGShNKic-Z-6RBfSzviCqyj9E3tTM

https://time.com/6182186/countries-banned-guns-mass-shooting/

https://www.nytimes.com/2022/05/25/world/europe/gun-laws-australia-britain.html

https://www.reuters.com/article/us-breivik-commission-idUSBRE87C0PE20120813?fbclid=IwAR1e5XhtdixoTB6UWaThuPnXSm7fopyOfZ5GEktsfHaC8Xrfp9Ha3QDdU10

https://theconversation.com/utoya-massacre-10-years-on-what-has-changed-in-norway-164819?fbclid=IwAR1CW0EhOXyBY9L4ul6iUTX12cQEaIDJNSBxO0jQPX4Dji51_W2-BWclxY8