ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์ เผยผู้ที่สัมผัสกับเสียงดังจากสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคประสาทหูเสื่อม แนะใช้อุปกรณ์ป้องกันและรับการตรวจความสามารถทางการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้ง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน เป็นโรคที่พบบ่อยมากในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดัง ได้แก่ งานอุตสาหกรรมโลหะ งานตัดไม้ เลื่อยไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อาชีพขับรถรับจ้าง เป็นต้น ซึ่งการทำงานหรือการประกอบอาชีพอาจมีผลทำให้สูญเสียการได้ยิน โดยมักมีความผิดปกติของหูทั้ง2ข้างมากกว่าข้างเดียว ทั้งนี้การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บาดเจ็บที่ศีรษะ สัมผัสสารเคมีที่มีพิษต่อหู สัมผัสกับเสียงดังที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ผู้ที่มีภาวะหูเสื่อมจากการได้ยิน อาจพบปัญหาการได้ยินลดลงโดยอาการที่พบบ่อยคือ ฟังคนอื่นพูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ยินลำบากมากขึ้นถ้าในบริเวณนั้นมีเสียงดัง ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางเสียงจึงควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน และตรวจความสามารถทางการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อมในอนาคต 

ด้าน นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาเรื่องการได้ยินแล้ว ผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินมักจะได้ยินเสียงดังในหู เช่น เสียงหึ่งๆ หรือเสียงกระดิ่ง ความผิดปกติดังกล่าวอาจจะเป็นพักๆ หรือเป็นตลอดเวลาและอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อต้องสัมผัสกับเสียงดังมากๆ  

นอกจากนี้การได้ยินเสียงดังผิดปกติในหูจะทำให้รู้สึกรำคาญ ดังนั้น ผู้ป่วยมักจะบ่นเรื่องการนอนไม่ค่อยหลับหรือไม่มีสมาธิในการทำงาน ทั้งนี้สถานประกอบการควรเฝ้าระวังด้านสุขภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยตรวจการได้ยินให้แก่ลูกจ้าง การซักประวัติรวมถึงประวัติการทำงานที่ต้องสัมผัสเสียงดัง การใช้ยาโรคประจำตัว ตลอดจนการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากลูกจ้างทุกคนที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีระดับเสียงดังมากกว่า 140 เดซิเบล ต้องได้รับการตรวจการได้ยิน