เนื่องด้วยจำนวนผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนมากขึ้น จนเครื่องมือทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ แนวความคิดในการนำ 'หน้ากากดำน้ำ' มาพัฒนาเป็นเครื่องช่วยหายใจจึงเริ่มขึ้นจากอิตาลี ประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และร้ายแรงที่สุดในยุโรป
แนวความคิดดังกล่าวถูกนำมาปรับใช้กับ 'อิราสเม' (Erasme) โรงพยาบาลย่านชานเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเช่นเดียวกัน โดย 'เฟเดอริค บอนนิเออร์' นักบำบัดระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาลชี้ว่า "หน้ากากดำน้ำที่ถูกพัฒนามาเป็นเครื่องช่วยหายใจจะนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง"
เครื่องช่วยหายใจดังกล่าวจะติดวาล์วไว้กับส่วนบนของหน้ากากดำน้ำที่เวลาสวมใส่แล้วจะคลุมทั่วใบหน้า และจะเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดัน 2 ระดับ (BiPAP) ที่ทำหน้าที่ส่งอากาศที่ผ่านแรงดันเข้าไปยังหน้ากากดังกล่าว
นวัตกรรมเร่งด่วนที่มาในช่วงวิกฤตนี้จะช่วยป้องกันการล้มเหลวของถุงลมปอด ที่มีหน้าที่ดูซับออกซิเจนเมื่อหายใจเข้า และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเวลาหายใจออก และเป็นอวัยวะสำคัญที่จะถูกจู่โจ่มจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลอิราสเม ใช้หน้ากากดำน้ำที่ได้รับการบริจาคจาก 'ดีแคทลอน' บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของโลกสัญชาติฝรั่งเศส และจะเริ่มการทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 50 ราย ในวันจันทร์ (30 มี.ค.) ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม 'บอนนิเออร์' ย้ำว่า นวัตกรรมดังกล่าวยังไม่ได้รับการทดลองทางการแพทย์ ซึ่งหมายความว่าเครื่องช่วยหายใจจากหน้ากากดังน้ำจะสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยรายเดียวต่อหนึ่งเครืองเท่านั้น ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้
นอกจากนี้ การออกแบบวาล์วระหว่างหน้ากากดำน้ำและส่วนเชื่อมต่อกับเครื่องช่วยหายใจยังต้องได้รับการพัฒนาเพิ่ม เนื่องจากรูปแบบในปัจจุบันยังคงมีน้ำหนักมากและไม่ค่อยสบายกับผู้สวมใส่เท่าไหร่นัก
บอนนิเออร์ ชี้ว่า หน้ากากดำน้ำดังกล่าวยังสามารถพัฒนามาเป็นหน้ากากป้องกันให้กับบุคลากรทางแพทย์ได้เช่นเดียวกัน แต่ก็แสดงความกังวลว่าหากประชาชนเท่าไปเห็นแพทย์ใส่แล้วจะรีบแห่ไปซื้อสินค้าดังกล่าวมาใช้จนไม่เพียงพอต่อความต้องการในโรงพยาบาล ทั้งยังไม่มั่นใจว่าผู้ผลิตสินค้าจะสามารถผลิตหน้ากากดำน้ำได้เพียงพอหรือไม่ และในเงื่อไขอะไรบ้าง
ล่าสุด ฝั่งดีแคทลอนออกมาแถลงถึงความสนใจในการพัฒนาหน้ากากดำน้ำ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่ยังรอความชัดเจนหลังการทดสอบการใช้งานทางการแพทย์อยู่พร้อมย้ำว่า "หากเราเห็นความสำเร็จจากการทดสอบ และได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่ามันใช้งานได้ เราจะรีบบอกพวกคุณ แต่สำหรับตอนนี้ ขอให้ทุกฝ่ายระวังข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันที่แพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย"
สำหรับบริษัทผู้ผลิตสินค้ากีฬา ตัวเลขรายได้ของดีแคทลอนในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราวร้อยละ 9 ส่งผลให้ตัวเลขปิดบัญชีปีที่แล้วอยู่ที่ 12,400 ล้านยูโร หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่องในฝั่งตลาดอีคอมเมิร์ซ