ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมออกแบบอนาคตประเทศไทย ต่อการดำเนินโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ว่า เรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนพูดถึง เสมือนเป็นเรื่องที่ประชาชนสั่งให้ทำ ทาง มูลนิธิส่งเสริมออกแบบอนาคตประเทศไทย ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ให้มาจัดเวิร์คช็อปเรื่อง PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
โดย กทม. เองมีนโยบายหลักๆในเรื่องดังกล่าวอยู่ 4 ด้าน คือ 1.กำจัดต้นตอ PM2.5 ผ่านโครงการ “นักสืบฝุ่น” ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ต้นตอฝุ่นในกรุงเทพฯ ทำให้มีข้อมูลในระยะยาว และทำงานเชิงรุกได้ เช่น กำจัดต้นตอจากรถยนต์ที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงดีเซลที่อาจจะเผาไหม้ได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนรถยนต์ระบบสันดาปเป็นรถพลังงานไฟฟ้า และดูต้นตอโรงงานปล่อยควันพิษ
2.จัด Low Emission Zone ทำให้เกิดจุดปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 ในปริมาณต่ำให้ได้ สนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะมากขึ้น และปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา
3.แจกอุปกรณ์ป้องกันช่วยบรรเทาฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย และเครื่องกรองอากาศให้กับกลุ่มเปราะบาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข
4.จัดทำระบบคาดการณ์และแจ้งเหตุ ด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มเครือข่าย อาจจะร่วมกับหน่วยงานเอกชน หรือมหาวิทยาลัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น จากที่มีอยู่ 50 จุดทั่วกทม. ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 จุด รวมทั้งสร้างความแม่นยำในการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ อาจจะมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แสดงข้อมูลค่าฝุ่นให้ประชาชนทราบในจุดต่างๆ เช่น โรงเรียน หรือพื้นที่สาธารณะ
ชัชชาติ มองว่า ปัญหา PM 2.5 จะแก้ได้ต้องมี 2 องค์ประกอบ 1.Hard Power กฏหมายต้องเข้มข้น 2.Soft Power เปิดข้อมูลปริมาณฝุ่น PM2.5 และใช้พลังประชาชน มีส่วนร่วมในการบังคับให้ลดการปล่อยฝุ่น ซึ่งมีผลไม่น้อยไปกว่าการบังคับใช้กฏหมาย
ที่ผ่านมายังขาดข้อมูลเรื่อง PM2.5 ที่แท้จริง และไม่ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อมูลวิจัยล่าสุดอยู่ที่ปี 2554 และต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และ กทม. กฎหมาย ทั้งยังต้องวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว แม้ฝุ่นจะมาเป็นฤดูกาล แต่มีผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาวหรือตลอดชีวิต
“ผมว่ามันเป็นคำสั่งจากประชาชน จะเห็นว่าเรามีนโยบายที่ชัดเจนตอนหาเสียง ประชาชนเลือกมาก็มีนโยบายที่จะทำต่อ เป็นนโยบายระยะยาวและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหา” ชัชชาติกล่าว
สำหรับเป้าหมายในการลด PM2.5 ในกรุงเทพฯ คงต้องทำให้ลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ไม่กล้าสัญญาว่าปริมาณจะลดลงเท่าไร แต่จะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ส่วนการปรับเกณฑ์วัดค่า PM2.5 คงไม่สำคัญเท่าตัวเลขที่เราวัดได้จริง ๆ เพราะมาตรฐานเป็นแค่ความสบายใจ