ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังจากที่ 'ประยุทธ์' ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายในช่วงปลายปี 2563 หลังไม่ได้ใช้มาระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงปรากฏข่าวการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือมาตรา 112 เพิ่มขึ้น ที่น่าสังเกตคือ ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มแจ้งความเป็นจำนวนมาก กระจายทั่วประเทศ 16 จังหวัดตั้งแต่เหนือจรดใต้ รวมแล้วราว 78 คดีซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม เราพบร่องรอยการปฏิบัติการของกลุ่ม ศชอ. ที่พูดถึงระบบการแบ่งหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีทั่วประเทศด้วยเช่นกัน

สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 ในระหว่าง 24 พ.ย.63 – 28 ต.ค.64 จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ในเบื้องต้นมีผู้ต้องหาอย่างน้อย 154 คน ใน 159 คดี (นับคดีผู้ได้รับหมายเรียก แต่ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย) ใน 159 คดีนี้ เป็นคดีที่ผู้ต้องหาอายุต่ำว่า 18 ปี จำนวน 12 คน และเป็นคดีที่ขึ้นสู่ชั้นพิจารณาในศาลแล้วจำนวน 52 คดี 

หากแยกจุดตั้งต้นของคดี หรือผู้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สามารถจำแนกได้เป็น

  • ประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 78 คดี
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 10 คดี
  • กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 5 คดี 
  • ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวนับกรณีที่ประชาชนแจ้งความเองจากข้อมูลรวมสถิติในเว็บไซต์ศูนย์ทนายฯ จะพบว่ามีทั้งหมด 87 คดีจาก 159 คดี หรือราว 54% กระจายตัวอยู่ใน 35 อำเภอ 16 จังหวัด รายละเอียดมีดังนี้

แผนที่ 112
  • สถิติคดีมาตรา 112 โดยประชาชนเป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดี ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-28 ต.ค.2564

เมื่อดูในรายละเอียดข้อมูลของศูนย์ทนายฯ จะพบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 7 คนที่แจ้งความกล่าวโทษตามมาตรา 112 ต่อผู้อื่นคนละ 3-9 คดี เช่น นพดล พรหมภาสิต อดีตเลขาฯ ศชอ., แน่งน้อย อัศวกิติกร ประธาน ศชอ. และจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส.

ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเดินทางเข้าแจ้งดำเนินคดีเพิ่มเติมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วอย่างน้อย 3 คน คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนพรชัย (สงวนนามสกุล) ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมที่เรือนจำกลางเชียงใหม่


ถูกฟ้องไกลจากภูมิลำเนาอย่างน้อย 10 คน 

หากพิจารณาในส่วนผู้ถูกกล่าวหา 154 คน พบว่า มีผู้ที่ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ไกลจากภูมิลำเนาของตัวเองอย่างน้อย 10 คน 

ยกตัวอย่างข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ เฉพาะในพื้นที่ สน.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พบว่า นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษถึง 6 คดี อย่างในกรณีของ ‘กัลยา’ ซึ่งทำงานอยู่นนทบุรี เหตุสืบเนื่องจากการโพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวสถาบันกษัตริย์จำนวน 4 ข้อความ กัลยาถูกพนักงานสอบสวนขอฝากขังต่อศาล และต้องประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 150,000 บาท

เช่นเดียวกับกรณีของ ‘วารี’ (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระในจังหวัดสมุทรปราการ อายุ 23 ปี ที่ต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ สน.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จากกรณีโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ ‘วารี’ และแฟนหนุ่มระบุว่าต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักราว 20,000 บาท อีกทั้งต้องหยุดงานถึง 3 วัน พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังวารีต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม ทนายความยื่นประกันตัววารีด้วยหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ 150,000 บาท 

 “เรารู้สึกว่ากฎหมายข้อนี้ไม่ยุติธรรม โทษจำคุก 3 ถึง 15 ปีมันหนักหนา ไม่สอดคล้องกับการกระทำที่เราถูกกล่าวหา อีกอย่างคือทุกคนสามารถแจ้งความได้ เจ้าทุกข์จะเป็นใครก็ได้ จะแจ้งข้อกล่าวหาที่ไหนก็ได้”  วารี กล่าว

ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ระบุว่านายพสิษฐ์ยังแจ้งความกล่าวโทษต่อคนอื่นๆ ในมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 20 ราย ขณะนี้ตำรวจทยอยออกหมายเรียกและดำเนินคดีไป 6 ราย

อย่างไรก็ดี ยังคงมีอีกหลายกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในจังหวัดซึ่งไกลจากภูมิลำเนาของตนเอง เช่น กรณีของสุพิชฌาย์ ชัยล้อม หรือ ‘เมนู’ นักเรียนมัธยมที่ต้องเดินจากจังหวัดเชียงใหม่ไปรับทราทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กรณีของพรชัยที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาถึง 2 ที่คือ เชียงใหม่และยะลา เป็นต้น 


ศชอ.แบ่งงานกันแจ้งความทั่วประเทศ 

แม้ไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่า ผู้แจ้งความที่ดำเนินการหลายกรณีนั้นสังกัดกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่ร่องรอยที่พอเห็นได้คือ ย้อนไปเมื่อ 21 เม.ย.64 รายการ ‘ขอชัดชัด’ ช่อง TOP NEWS นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ.(ตำแหน่งในขณะนั้น) และ แน่งน้อย อัศวกิติกร ประธาน ศชอ. เคยกล่าวถึงระบบการทำงานของกลุ่มในการเข้าแจ้งความกล่าวโทษมาตรา 112 ต่อผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ว่า ในกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่ในการยื่นหลักฐานแจ้งความผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันตามสถานีตำรวลภูธรในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย 

“เราจะมีไลน์กลุ่มของเรา ส่งข้อมูลกันเข้ามา เราก็จะเบรนสตรอม (ระดมสมอง) กันว่า เอ้า เคสนี้คนนี้ไปแจ้งที่จังหวัดนี้ๆ พี่อึ้งล่าสัส (หนึ่งในสมาชิก ศชอ.) ที่ชอบเอาไปทัวส์ใต้ เราก็จะรวบรวมข้อมูลส่งไปให้...อยู่เหนือใช่ไหม ไปใต้เลยเที่ยวทั่วไทย” นพดล อดีตเลขาฯ ศชอ.กล่าวในรายการขอชัดชัด ช่อง TOP NEWS

“เราจะไม่รอให้กฎหมายลงโทษเอาผิดมัน เราจะทำให้มันเป็นประสาท เราจะไม่เห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น เราใจสลายมานานเกินไปแล้ว ได้เวลาเอาคืนอย่างสาสม ” ข้อความในไลน์ของกองทัพมินเนี่ยน หรือ ศชอ. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.64

ศชอ.ภาพจากประชาไทศชอ.ภาพจากประชาไท
  •  10 ก.ค. 2564 ศชอ.ยื่นหลักฐานจำนวน 1,275 รายชื่อผู้แสดงความเห็นต่อสถาบัน ต่อ บก.ปอท. (ขอบคุณภาพจากประชาไท)

ทั้งนี้ทาง ศชอ.นำโดย ทรงกลด ชื่นชูผล ‘ผู้กองปูเค็ม’ ยังคงเดินหน้าทำ ‘แผนที่ 112’ รวบรวมจำนวนผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 บัญชี Line Official ชื่อว่า ‘A Adisorn Sopha’ ซึ่งใช้รูปโปรไฟล์คู่กับสัญลักษณ์กลุ่ม ศชอ. เปิดเผยยอดผู้แสดงความเห็นที่ทางกลุ่มเห็นว่าหมิ่นสถาบันจำนวน 3,850 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 700 คนเมื่อครั้งที่ ‘ผู้กองปูเค็ม’ เคยเปิดเผยแผนที่นี้จนเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“ในเมื่อพวกคุณไม่ยอมหยุด พวกเราจึงหยุดไม่ได้” ข้อความประกอบข้อมูลแผนที่ 112 ที่ปรากฏในไลน์ A Adisorn Sopha 

แผนที่ 112 ศชอ.

ภาพจากบัญชี Line Official ชื่อ ‘A Adisorn Sopha’ หนึ่งในสมาชิก ศชอ.


ก่อนรัฐประหาร 2557 ก็เคยมีการหว่านแจ้งความทั่วประเทศ

ในอดีตก็เคยมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้น เป็นการเดินสายแจ้งความหลายพื้นที่ต่อเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือ กรณีของ ‘ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า’ ซึ่งแสดงในงาน 40 ปี 14 ตุลาเมื่อปี 2556 โดยภายหลังการแสดงไม่นาน เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้นัดประชุมกันราว 200 คน มีการเปิดฉายคลิปบางส่วนของละครเวทีดังกล่าวและนัดแนะสมาชิกให้เข้าแจ้งความมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีวิทยากรร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์หมิ่นประมาทสถาบันด้วยหลายคน อาทิ ผศ.ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รศ.กิจบดี ก้องเบญจภุช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาในขณะนั้น พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหนัาศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) 

ต่อมาสมาชิกเครือข่ายได้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละครดังกล่าว ทั้งผู้เขียนบท ผู้แสดง ผู้สนับสนุน ให้มีการจัดงาน โดยไปแจ้งความกล่าวโทษที่สถานีตำรวจ 13 แห่ง ประกอบด้วย 

  1. สน.คันนายาว กทม.
  2. สภ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
  3. สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
  4. สภ.บางบาล จ.อยุธยา
  5. สภ.บางปะอิน จ.อยุธยา
  6. สภ.เมือง จ.นครปฐม
  7. สภ.เมือง จ.ราชบุรี
  8. สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
  9. สภ.เมือง จ.กำแพงเพชร
  10. สภ.เมือง จ.พิษณุโลก
  11. สภ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
  12. สภ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
  13. สภ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

คดีไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งภายหลังเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ในวงกว้างซึ่งรวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับละครเจ้าสาวหมาป่าด้วย 2 คน คือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ทั้งคู่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีครึ่ง 

กิตติ พันธภาค
Journalism is not a Crime.
12Article
11Video
0Blog