พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศเกษตรกรรม มีน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ปัจจุบันเรามีจำนวนประชากรมากขึ้น จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคมากขึ้น อีกทั้งความจำเป็นด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่เรามีแหล่งน้ำสำคัญเพียงแหล่งเดียว คือน้ำฝน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ ทั้งระบบอย่างบูรณาการ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำ โดยช่วงฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก รวมทั้งฝนตกนอกพื้นที่เก็บกักน้ำ อีกทั้งการคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.2563 เกือบทุกภาคของประเทศ ต่ำกว่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ สำหรับรับมือสถานการณ์น้ำแล้ง รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก เราต้องให้ความสำคัญกับน้ำกิน-น้ำใช้เป็นอันดับแรก
โดยที่ผ่านมารัฐบาลวางรากฐานการปฏิรูปสำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำ โดยผลักดันให้มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561–2580 และพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ และจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้เป็นองค์กรกลางด้านน้ำ เพื่อเชื่อมโยงระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติ ทั้งการจัดหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม แก้มลิง ประตูกักเก็บน้ำ การระบายน้ำ จูงน้ำ คลองสายใหม่ ที่ระบายน้ำและกักเก็บน้ำได้พร้อมกันในทุกภาคให้ได้ แต่ก็มีปัญหาในการใช้ที่ดินเอกชน ที่ดินประชาชน และการทำอีไอเอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ น้ำ ในปี 2558–2562 ที่ผ่านมา สามารถประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ อาทิ โครงการด้านทรัพยากรน้ำ รวม 273,259 โครงการ วงเงิน 368,321 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 9.7 ล้านไร่ เพิ่มความจุน้ำได้ 3,486 ล้านลบ.ม. ที่มุ่งเน้นการจัดหาน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับทุกหมู่บ้าน มีน้ำประปาใช้ ได้ครบแล้ว โดยการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงให้น้ำภาคการผลิต ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัดด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือจากภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ จึงยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ไหนพร้อมก่อน ลงตัวก่อนก็เร่งดำเนินการให้ทันที
สำหรับปี 2563 ถือว่าประเทศไทยตกอยู่ในภาวะฝนน้อย รัฐบาลได้วางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง อาทิ การเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2562 ให้ได้มากที่สุด และระบายน้ำเท่าที่จำเป็น ปัจจุบันน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำต้นทุนคิดเป็นร้อยละ 60 เปอร์เซ็น ส่วนภาคเหนือและภาคกลางที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติ สามารถเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือ 49 เปอร์เซ็นต์ และภาคกลาง 37 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ในภาพรวมของประเทศ
รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ ในการวางแผนจัดสรรน้ำ รัฐบาลยังมองหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอื่นๆ รวมทั้งแหล่งน้ำนอกประเทศ เช่น แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ โดยการหารือร่วมกับประเทศจีน เพื่อให้ระบายน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563 ประเทศจีนได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ส่งผลให้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกความพยายามของรัฐบาลที่มีความสำเร็จ ในการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำแล้งของประชาชน
แม้การเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบชลประทานและกลไกการทำงานต่างๆ จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เราก็ไม่สามารถบังคับให้ฝนที่มีน้อยตกในพื้นที่รองรับได้ตามต้องการ ส่งผลให้สถานการณ์ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ ทั้ง 15 แห่งอยู่ในเกณฑ์น้อยขั้นวิกฤต รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ลดละความพยายาม ได้อนุมัติงบกลางและระดมสรรพกำลัง เพื่อมาดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมนอกพื้นที่ เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และเชื่อมโยงแหล่งน้ำให้เป็นระบบ รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ฝายและระบบกระจายน้ำ เพื่อให้พร้อมรองรับน้ำในฤดูฝนปีนี้”นายกฯกล่าว
“ดังนั้นขอให้ประชาชนไว้ใจและมั่นใจว่า การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาล ย่อมยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอมา และขอความร่วมมือร่วมใจจากชาวไทยทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า รวมทั้งรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อเพิ่มแหล่งต้นน้ำและอากาศบริสุทธิ์ ให้กับประเทศชาติและลูกหลานของเรา เพราะน้ำคือความมั่นคงของชีวิต และประชาชนคือหัวใจสำคัญ ที่เราจะต้องร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศชาติและทุกคน ผ่านพ้นวิกฤตแล้งไปได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว