ไม่พบผลการค้นหา
เปิดจุดเริ่มต้นการสื่อสารจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บนแพลตฟอร์มโซเชียล ‘เพจเฟซบุ๊ก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร เป้าประสงค์คืออะไร สุดท้ายคงต้องรอดูว่าการเสนอตัวเป็นโซ่ข้อกลางพาสังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้งจะได้รับการตอบรับแค่ไหนจากทั้งอิีลีทและประชาชน

กลางเดือนมกราคม สื่อฮือฮากับ ‘จดหมายเปิดใจ’ ฉบับยาวเหยียดของบุคคลที่มักชอบพูดสั้นๆ ‘ไม่รู้’ หลายฝ่ายรีบออกมาบอกว่าเป็น ‘เฟคนิวส์’ ก่อนในที่สุด เจ้าตัวจะคอนเฟิร์มเองว่าของจริง

การที่คนอายุ 77 ปีจะมาถ่ายทอดความรู้สึกผ่านข้อความยาวๆ บนโซเชียลมีเดีย ‘เพจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีทีมงานช่วยปั้นเสริมขัดเกลาให้เนื้อหาตรงประเด็น หลังบ้านที่ทำเพจส่วนตัว พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือเลือดใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ - ‘อันวาร์ สาและ’ ส.ส.ปัตตานี 4 สมัย ร่วมกับ ‘สัญญา สถิรบุตร’ ทั้งคู่เป็นศิษย์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งย้ายมา พปชร.และได้ทำงานใกล้ชิดหัวหน้าพรรค จึงได้ขึ้นแท่นเป็นอีกทีมสื่อสาร

อันวาร์ สาและ

‘วอยซ์’ ชวนไปพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นการสื่อสารจาก พล.อ.ประวิตรสู่สังคมว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร เป้าประสงค์คืออะไร ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร สาเหตุการตัดสินใจย้ายพรรคของอันวาร์ จากพรรคเก่าแก่ที่กำลังสั่นคลอนสู่พลังประชารัฐ อายุ 5 ขวบของผู้มากบารมี รวมถึงเส้นทางการเมืองของ ส.ส.ปัตตานี 4 สมัย และเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพียงคนเดียว ที่เหลือรอดชนะเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ในการเลือกตั้งปี 2562

การตัดสินใจย้ายมาบ้าน ‘ลุงป้อม’

อันวาร์ สาและ เป็นอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ที่อยู่กับพรรคมา 18 ปี ในช่วงหลังเราจะเห็นรอยร้าวระหว่างตัวเขากับพรรคอย่างชัดเจน อันวาร์ลุกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคตัวเองหลายหน โหวตสวนมติพรรคก็เคยมาแล้ว

เขายอมรับว่า สัญญาณความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนชัดในผลการเลือกตั้ง จากพรรคร้อยกว่าที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้ ส.ส.ทั้งประเทศเพียง 52 คน อันวาร์เหลือรอดได้เป็น ส.ส.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงคนเดียว จากที่เคยมีส.ส.ถึง 13 คน นี่สะท้อนว่าเขาเหนียวแน่นกับมวลชนเพียงไหนในพื้นที่ปัตตานี

สาเหตุที่เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก็มีหลายเรื่อง อาทิ มติพรรคในการเสนอกฎหมายต่างๆ ที่มักกลับไปกลับมา จุดยืนในสภาที่เปลี่ยนไป และภายหลังเกิดความแตกแยกในพรรค หัวหน้าที่เป็นผู้นำองค์กร ไม่สามารถรักษาคนที่มีความสามารถและมีอุดมการณ์ของพรรคไว้ได้ เรื่องเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข จึงตัดสินใจเส้นทางการเมืองใหม่

ส.ส.ปัตตานี 4 สมัย ยอมรับว่า หลังจากมีกระแสจะออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองน้อยใหญ่ติดต่อเข้ามาจนหัวกระไดไม่แห้ง พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่างๆ พรรคเล็กถึงขนาดให้ตำแหน่งหัวหน้าพรรค พลังประชารัฐก็ไม่เว้นเช่นกัน เขาเล่าว่า พล.อ.ประวิตร เป็นคนเอ่ยปากชวนมาร่วมงานด้วยตัวเอง “ผมอยากได้คุณ มาอยู่ด้วยกันได้ไหม” ก่อนมีประโยคตามติดๆ “ผมรู้จักคุณมากกว่าที่คุณคิดนะ ผมตามคุณมานานแล้ว” “ถ้าเพื่อชาติบ้านเมือง เราทำงานด้วยกันได้ไหม”

ส.ส.ปัตตานี 4 สมัยที่กำหลังเนื้อหอมยื่นข้อเสนอ 3 เงื่อนไขไปกับทุกพรรคที่ทาบทามรวมถึง พปชร. คือ 1.ขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ 2.สนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาล 3.ช่วยเหลือเยียวยากลุ่มประมงที่ได้รับผลกระทบหนักจากเรื่อง IUU

“ผมพูดแค่เงื่อนไขข้อแรก ลุงป้อมก็บอกเลยว่า ‘อันวาร์ ที่คุณขอมันใหญ่ไป’ แต่ผมก็พยายามอธิบายว่า มันอาจเป็นเรื่องใหญ่แต่ค่อยๆ ทำทีละส่วนได้ ทีละเล็กทีละน้อยได้ อย่างน้อยขอให้มีความคืบหน้า” อันวาร์เล่า

แม้ทุกพรรคที่ทาบทามจะรับปากเพราะเห็นด้วยในหลักการทั้ง 3 ข้อ แต่อันวาร์ยอมรับว่าจุดตัดสินคือการประเมินว่า ‘ใครที่ทำได้จริง’

ไม่นานหลังพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร รัฐบาลได้ดำเนินการทั้ง 3 เรื่อง โดยเฉพาะการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง และอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี นี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการย้ายมาบ้านหลังใหม่ พปชร.

อันวาร์ สาและ

แม้จะเต็มไปด้วยคำถามในตัวพล.อ.ประวิตร แต่อันวาร์พยายามอธิบายว่า เขาจำเป็นต้องผลักดันเรื่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ได้ เพราะคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่กับกฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎอัยการศึก มานานกว่า 18 ปีแล้ว ที่เจ้าหน้าที่สามารถบุกจับใครก็ได้ในบ้านทันทีหากสงสัย โดยไม่ต้องขอหมายจับ ทนายหรือครอบครัวก็เจอไม่ได้ คนในพื้นที่ต้องประสบชะตากรรมล้มตายไปมาก ซึ่งสร้างบาดแผลลึกให้คนจังหวัดชายแดนใต้

แปลความง่ายๆ ว่า ประวิตรทำได้! นอกจากนี้อันวาร์ยังประเมินว่า ประวิตรจะสามารถนำพาพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้แน่นอน และเขาหวังว่าเป้าประสงค์ของเขาจะได้รับการผลักดันต่อไปอีก

ต่อคำถามว่า หากแยกขั้วเผด็จการกับประชาธิปไตย กลุ่ม 3 ป.ผู้นำการรัฐประหารปี 2557 ย่อมไม่ใช่ขั้วประชาธิปไตย อันวาร์เห็นว่า แม้สถานการณ์เดินมาถึงวันนี้ สองฝั่งทั้งที่ถูกมองเป็นเผด็จการและฝ่ายที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยก็ยังแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่สำเร็จ แต่ประเทศมันต้องเดินต่อไปข้างหน้า ฉะนั้น ถ้ามองอีกมุมของ พล.อ.ประวิตร ก็เป็นบุคคลเป็นที่ยอมรับและสามารถพูดคุยกับหลายพรรคการเมืองได้มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“วันนี้ในความแตกต่าง แม้เป็นขั้วใดก็แล้วแต่ มันต้องมีจุดร่วมที่เราอยู่ด้วยกันได้” อันวาร์กล่าว


‘จดหมายประวิตร’ ยืนยันคิดแบบนี้! แม้ไม่ได้เขียนเอง

การย้ายมาพลังประชารัฐแม้จะเกิดขึ้นไม่กี่เดือน แต่อันวาร์มีโอกาสพูดคุยกับพล.อ.ประวิตรมาเป็นปี มากบ้างน้อยมากสะสมมา จนกระทั่งเมื่อย้ายเข้ามาเต็มตัว เขาอาสาเป็นคนทำเพจสื่อสารให้ทหารนักการเมืองสูงวัย เขาปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่การตลาดการเมือง (Political Marketing) แต่เป็นความพยายามสื่อสารด้านที่คนไม่เคยเห็น และนำเสนอสิ่งที่เป็น ‘จุดเด่น’ ของทหารวัย 77 ปีคนนี้ที่เขาคิดว่า ‘ตอบโจทย์’ การเมืองไทย

อันวาร์ เล่าว่า สารตั้งต้นเรื่องนี้คือ เขาและสัญญา สถิรบุตร บุคคลซึ่งอันวาร์ยกย่องนับถือให้เป็นกุนซือและมีอิทธิพลทางความคิดต่อตนเอง สัญญาเคยเป็นอดีต ส.ส.กทม. อดีต ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. เขาทั้งสองฝ่าวงล้อมฝ่ายเสธ.ทั้งหลาย ได้เข้าไปนั่งปรึกษาพูดคุยกับ พล.ประวิตร อยู่บ่อยครั้ง และนำเสนอว่าจะเป็น ‘ghost writer’ สื่อสารแนวคิด ‘ลุงป้อม’ กับประชาชน โดยจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพรรค ซึ่งทาง พล.อ.ประวิตร ก็ยินดี

“ภาพลักษณ์ของลุงป้อมที่เป็นตัวตนจริงๆ มีหลายมุม รองนายกฯ, บิ๊กป้อม, พี่ใหญ่ 3 ป., หรือลุงป้อมใจดี ทั้งสี่ด้านคนก็จะมองเห็นต่างรูปแบบกัน คนใกล้ชิดที่เป็นทหารก็เห็นแบบหนึ่ง นักการเมืองก็เห็นอีกมุมหนึ่ง แต่พอเวลาคุย ผมก็ไม่เคยเห็นบางมุมของ พล.อ.ประวิตร และคิดว่าประชาชนก็คงไม่เคยเห็นด้วย จึงมองว่ามันควรเอามุมนี้ออกมา”

ส่วนเป้าประสงค์การของการทำเพจและผลิตจดหมายหลายฉบับ อันวาร์ระบุว่า

“ส่วนหนึ่งต้องการสื่อสารให้คนเข้าใจว่าบริบทของทหารคืออะไร โดยจุดหลักคือต้องทำให้ความขัดแย้งหายไป และให้สังคมก้าวข้าม เพราะเราแตกแยกมาพอสมความแล้ว มันไปต่อไม่ได้ ฉะนั้นต้องเอาประเทศให้รอดพ้นตรงนี้ไปให้ได้ ซึ่งเป็นใครก็ได้ อาจไม่ใช่ลุงป้อมก็ได้ แต่วันนี้มันไม่สามารถหาตัวแทนที่จะประสานแต่ละฝั่งได้”

อันวาร์เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ทีมงานหลังบ้านหลักๆ มี 7 คน ประกอบด้วย ตัวเขากับสัญญา นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่นักสื่อสารองค์กรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอีก 3 คน รวมทั้งมีสื่อสารมวลชน 2 คนที่จะคอยมอนิเตอร์ประเด็นต่างๆ

เพจประวิตร

เนื้อหาในจดหมายมีหลายประโยคที่อาจสร้างความประหลาดให้หลายคน เช่น

  • “คนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่มอิลิท” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง “ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย”
  • “ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น”
  • "การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง...ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน"
  • “มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว”
  • “ความรู้ ความสามารถของ “กลุ่มอิลิท” ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า”
  • “ผมเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ว่า การตัดสินว่า ประชาชนไม่มีความสามารถในการเลือกคนดี มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้แทนนั้นเป็น ความคิดที่ไม่ถูก”
  • “ความพ่ายแพ้นั้นเกิดจาก “อำนาจนิยม” แม้จะครองใจคนบางกลุ่มได้ แต่ห่างไกลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่”
  • “ในเส้นทางการบริหารจัดการประเทศ ไม่มีหนทางอื่นนอกจากมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในระบอบประชาธิปไตย เคารพการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่”
  • “แม้จิตวิญญาณผมยังมั่นคงกับ “สำนึกอนุรักษ์นิยม” แต่ความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วย “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง”
  • “ด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้ และรับทราบถึงเจตนาดีต่อประเทศของคนกลุ่มที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มีความรู้ความสามารถ และยังคงมีอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของประเทศ ทำให้ผมเกิดความเสียดาย และคิดว่าการหาทางประสานให้คนกลุ่มนี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาประเทศ ย่อมเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง”

ฯลฯ

คำถามก็คือ สรุปแล้ว จดหมายนี้คือ วิธีคิดของทีมอันวาร์ หรือความคิดของประวิตร

“จดหมายของลุงป้อม ทุกอย่างคือตัวตนเขา เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ"

"เราประมวลจากการพูดคุยกันหลายต่อหลายครั้ง แต่แน่นอนว่า เราก็ใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนมุมของเรากับเขาด้วย” อันวาร์ตอบคำถาม

ก่อนที่จะเผยแพร่ พล.อ.ประวิตร จะอ่านเนื้อหาทุกครั้งว่าเป็นไปตามแนวความคิดหรือไม่ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อันวาร์ ยืนยันว่า จากที่ใกล้ชิดโดยส่วนตัว พล.อ.ประวิตร เป็นบุคคลที่มีความฉลาดรอบรู้ ไม่ใช่อย่างที่ทุกคนมักเห็นตามหน้าสื่อที่ชอบตอบว่า “ไม่รู้ ไม่รู้” เป็นคนมีความคิดหลายแง่มุมมาก และไม่รังเกียจนักการเมือง แม้จะเคยร่วมคณะปฏิวัติ

จุดเด่นที่ทีมสื่อสารทีมนี้มองเห็นสำหรับ ‘นักการเมือง’ ชื่อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็คือบทบาท ‘โซ่ข้อกลาง’ หรือตัวกลางระหว่างสองขั้วความขัดแย้ง เพราะหากจะแข่งนโยบาย ดูทรงแล้ว พปชร.น่าจะลำบาก จดหมายจึงเน้นที่การวิเคราะห์การเมืองไทยให้เห็น ‘ขั้ว’ ความขัดแย้งที่แท้จริง และพยายามโชว์ว่า ‘ลุงป้อม’ เข้าใจทั้งสองฝ่าย ‘อิลีท / อนุรักษนิยม’ กับ ‘นักการเมือง / ประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ขนาดไหน โดยเฉพาะมุมความเข้าอกเข้าใจนักการเมือง ความเข้าใจว่ายังไงก็ต้องไปต่อกับระบอบประชาธิปไตย และรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ

เนื้อหาในจดหมายบางฉบับพยายามเชื่อมประสานกลุ่ม ‘อิลีท’ ซึ่งเป็นคนหวังดีและมีความสามารถ กับ นักการเมืองตัวแทนประชาชน

ถามว่าการพยายามเป็นโซ่ข้อกลาง สุดท้ายจะ ‘ไม่เป็นที่ไว้วางใจ’ ของทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า อันวาร์ยืนยันว่า สถานการณ์และกาลเวลาเท่านั้นจะเป็นบททดสอบและพิสูจน์ว่า พล.อ.ประวิตร เก่งจริงไหม เหมาะที่จะอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า โดยส่วนตัวก็ไม่สามารถการันตีได้ เพียงแต่ ณ เวลานี้เขาเห็นว่า พล.อ.ประวิตรมีศักยภาพ และต้องพิสูจน์มันหลังจากนี้


เปิดประวัติ นักธุรกิจล้มละลายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง สู่ ส.ส.ปัตตานี 4 สมัย

สำหรับอันวาร์ ปัจจุบันอายุ 52 ปี พื้นเพเป็นชาวอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์

พื้นฐานทางการเมืองของครอบครัว ทั้งปู่และพ่อเคยเป็นกำนัน แต่ด้วยการที่เห็นบรรยากาศการเมืองท้องถิ่นที่ต้องคอยประสานกลุ่มอิทธิพล คอยแก้ไขปัญหาให้ผู้คนหลายฝ่ายมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้รู้สึกเบื่อ ไม่ชอบเรื่องการเมืองเลย จึงเป็นผลตัดสินใจเลือกเรียนบริหารธุรกิจ เริ่มต้นอาชีพเป็นเซลล์ขายที่ดิน มีรายได้เฉลี่ยกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับคนเพิ่งจบใหม่ๆ

อันวาร์ สาและ

วัย 20 กว่าก็สามารถเปิดบริษัทอันวาร์ กิจโยธา ประกอบธุรกิจทำรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจเติบโตรวดเร็วมาก จนปี 2541 บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้บริษัทล้มละลาย จากที่เคยมีรถยนต์หลายคัน รถสิบล้อ รถแบคโฮกว่า 30 คัน ทั้งหมดถูกยึดจนต้องใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะหลัก มิหนำซ้ำยังเป็นหนี้สินอีก 30-40 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็พยายามทำธุรกิจต่อจนใช้หนี้ได้หมด

อันวาร์เข้าสู่ถนนการเมืองตอนอายุประมาณ 33 ปี โดยเล่าได้รับการชักชวนจากเพื่อนของประธานพรรคประชาธิปัตย์ สาขาปัตตานี ที่ให้ไปพบ ธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.สตูล หลายสมัย เพื่อให้เขาลงสมัครเป็น ส.ส. เขาพยายามปฏิเสธ เพราะไม่อยากสู้กับคู่แข่ง ส.ส. 5 สมัย ที่อยู่พรรคไทยรักไทยในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเป็นคนที่พ่อของตัวเองเคยช่วยหาเสียง แต่ระหว่างการพูดคุยธานินทร์พูดว่า “คนเราถ้าพระเจ้าเลือก หนียังไงก็ไม่พ้น แต่ถ้าพระเจ้าไม่เลือก พยายามยังไงก็ไม่ได้” สุดท้ายเขาได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตในการลงสมัครในพื้นที่ปัตตานีของพรรคประชาธิปัตย์ และมติใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์เลือกให้เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ครั้งแรก ปี 2548 และเป็น ส.ส.ปัตตานี มา 4 สมัย (2548 ,2550 ,2554 ,2562)