ไม่พบผลการค้นหา
'ไคลีย์ เจนเนอร์' เศรษฐีชาวอเมริกันอายุน้อยที่สุดในโลก รวย 'ด้วยตัวเอง' จากการเปิดบริษัทเครื่องสำอาง ที่เน้นขายผ่านโลกออนไลน์ และการเติบโตของเศรษฐีหน้าใหม่ในเอเชีย

ช่วงเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว นิตยสารฟอร์บส์นำไคลีย์ เจนเนอร์ ขึ้นปกรายชื่อผู้หญิงที่รวยที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามกลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหนัก กับประเด็นที่เธอได้รับการบรรยายว่าเป็นเศรษฐี "ที่สร้างตัวขึ้นมาเอง"

หลายคนออกมาโต้แย้งว่า ไคลีย์ ไม่สามารถถูกจัดไว้ในประเภทของเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาเองได้ เพราะเธอมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงอยู่แล้ว

ประเด็นโต้เถียงกลับมาอีกครั้ง เมื่อฟอร์บส์ยกให้เธอเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่อายุน้อยที่สุดโลก โดยระบุว่าเป็นมหาเศรษฐีในวัยเพียง 21 ปีที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเอง เอาชนะอดีตแชมป์อย่าง 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊ก ที่มีทรัพย์สินแตะพันล้านเมื่อวัย 23 ปี 

ฟอร์บส์คาดการณ์ว่าบริษัทเครื่องสำอางของไคลีย์มีมูลค่ารวมอย่างต่ำ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 28,600 ล้านบาท และเธอเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด โดยถ้าควบรวมมูลค่าธุรกิจและกำไรเงินสดที่เธอถือครองอยู่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,100 ล้านบาท เธอกลายเป็นเศรษฐีพันล้านคนใหม่อย่างสบายๆ

การสร้างความร่ำรวยฉบับ 'ไคลีย์ เจนเนอร์'

ในยุคของไคลีย์ และบริษัทที่มีพนักงานเพียง 15 คน เธอผงาดขึ้นมาเป็นเศรษฐีได้ จากความยิ่งใหญ่ในโซเชียลมีเดีย ด้วยยอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 128 ล้านคน ในทวิตเตอร์อีก 26.7 ล้านคน และยังมียอดผู้ชมวิดีโอของเธอในสแนปแชตมากเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยข้อความสั้นๆ ของเธอที่เคยกล่าวว่า "พอแล้ว (กับสแนปแชต)" ทำให้บริษัทสูญเสียมูลค่าในตลาดหุ้นกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31,800 ล้านบาท

View this post on Instagram

thank you @forbes 💜

A post shared by Kylie (@kyliejenner) on

ไมเคิล นอร์ตัน ศาสตราจารย์ประจำสาขาธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดรายได้และความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีในปัจจุบันมาจากการทำงานหนักเพื่อก่อร่างสร้างตัวเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำธุรกิจ

ในงานวิจัยของนอร์ตันพบว่า การมีเงินเยอะจะช่วยให้คุณมีความสุขได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง

"ฉันไม่ได้หวังอะไร ฉันไม่ได้มองเห็นอนาคต แต่มันก็รู้สึกดีมากจริงๆ เหมือนมีมือมาตบบ่าให้กำลังใจ" ไคลีย์ เจนเนอร์ กล่าวกับนิตยสารฟอร์บส์

สำหรับประเด็น 'สร้างมาได้ด้วยตัวเอง' นั้น ฟอร์บส์อธิบายว่า "คือการที่คนใดคนหนึ่งสร้างบริษัทหรือสร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง มากกว่าการได้รับมรดกความร่ำรวยมากจากครอบครัวทั้งบางส่วนและทั้งหมด" และนอร์ตันได้ย้ำเช่นเดียวกับฟอร์บส์ว่า ทายาทมหาเศรษฐีอาจถูกเรียกว่า 'ก่อร่างสร้างตัว' ขึ้นมาเองได้ เพราะครอบครัวอาจจะไม่ได้มอบมรดกตกทอดมาให้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า สิ่งที่ทายาทเศรษฐีส่วนใหญ่ได้รับมากกว่าคนอื่นๆ ก็คือ 'พื้นฐานการศึกษา' และ 'เครือข่ายทางธุรกิจ'

ฟอร์บส์ให้คะแนนจาก 1 ถึง 10 โดย 1 หมายถึงคนที่ร่ำรวยมาจากมรดกของครอบครัว ในขณะที่ 10 คือคนที่สร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรรายการทอล์กโชว์ชื่อดังของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างคนที่ได้ 10 คะแนน ในขณะที่ฟอร์บส์ให้ไคลีย์ที่ 7 คะแนน โดยฟอร์บส์ยังให้คะแนนไคลีย์ดีกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่ได้ 4 คะแนน 

ประมาณร้อยละ 30 ของกลุ่มบุคคลที่เป็นอภิมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ เช่น ไคลีย์ จะได้รับมรดกจากครอบครัวราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 950 ล้านบาท ในขณะที่อีกร้อยละ 70 ของอภิมหาเศรษฐีสร้างมาด้วยตัวเองทั้งหมด

หันมองเศรษฐีเอเชีย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานข้อมูลจากไนท์แฟรงค์ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ว่าเอเชียจะเป็นทวีปที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่ไวที่สุดในโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า ที่อัตราร้อยละ 27 ในขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป เติบโตที่ร้อยละ 17 และ 18 ตามลำดับ โดยตัวเลขเศรษฐีหน้าใหม่ของเอเชียที่ 1,003 คน ภายในช่วงปี 2561 - 2566 นับเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐีทั่วโลก 2,696 คน 

สำหรับอัตราการเติบโตของอภิมหาเศรษฐีในเอเชีย (ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่าหรือเท่ากับ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 950 ล้านบาท) ในช่วงปี 2561 - 2566 ประเทศอินเดียนำมาด้วยอัตราร้อยละ 39 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยอัตราร้อยละ 38 จีนและอินโดนีเซียตามมาเป็นอันดับที่ 3 และ 4 ด้วยอัตราร้อยละ 35 และ 32 ตามลำดับ ส่วนเวียดนามและมาเลเซียครองอันดับ 5 ร่วม ที่อัตราร้อยละ 31 ด้านเกาหลีใต้ตามมาเป็นอันดับที่ 6 ด้วยอัตรา 30 ปิดท้ายด้วยประเทศไทย ในอันดับที่ 7 ที่อัตราร้อยละ 29 

อ้างอิง; CNN, The Guardian, WP, Bloomberg