วันนี้ (25 เมษายน 2568) ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงสื่อมวลชนว่า การประชุมวันนี้ เพื่อติดตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าสินค้าต่างชาติ ผิดกฎหมายที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยประเด็นสำคัญที่หารือเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แบ่งได้เป็นหลายระดับ รวมถึงสินค้าที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ และเรื่องร้านค้า โดยเฉพาะภาคบริการที่เข้ามาในรูปแบบของนอมินีว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้มีแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและติดตามถึงกรณีสินค้าต่างชาติผิดกฎหมายที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว มีทั้งสินค้าบางส่วนที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายต่อและบางส่วนเข้ามาแปรรูปแล้วส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้ มีการเฝ้าจับตาดูอยู่ว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าไทยจริงหรือไม่
รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหานอมินี ปัจจุบันมีความกังวลเกี่ยวกับบริษัทที่จดทะเบียนไม่เกิน 50% ซึ่งในทางกฎหมายอนุญาตให้เกิน 50% ได้ แต่เมื่อไม่เกิน 50% เราจะต้องตรวจสอบดูโดยการคัดเลือกบริษัทที่ไม่เกิน 50% (ตั้งแต่ 1% - 49%) ว่าผู้ถือหุ้นตัวจริงคือใคร และใครเป็นผู้ให้เงินทุน ซึ่งจะต้องประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับชาวต่างชาติเข้าถือครองที่ดิน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีการถือครองที่ดินเกินกฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักดีว่าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และสอดคล้องกับหลักการแข่งขันอย่างยุติธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
สำหรับกรณีการสวมสิทธิ์สินค้าไทย จะต้องตรวจสอบโรงงาน กระบวนการผลิต รวมถึงโลโก้สินค้า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin หรือ CO) ซึ่งจะออกโดยกระทรวงพาณิชย์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีการประสานความร่วมมือในการออกใบรับรองให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อยืนยันว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าของไทยอย่างแท้จริง
รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ อาทิ ปราบปรามบริษัทนอมินีและแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ตรวจสอบการถือครองทรัพย์สิน การนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและไม่มีมาตรฐาน การสวมสิทธิ์สินค้าไทย และการขายสินค้าผิดกฎหมายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมควบคุมแอปพลิเคชันชำระเงินข้ามประเทศ ป้องกันการทุ่มตลาดจากสินค้าราคาต่ำ และตรวจสอบโรงงานต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงเปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสผ่านแอป Traffy Fondue เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและทันสถานการณ์ต่อไป
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการดำเนินการเข้มงวดกวดขันสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาในประเทศไทยว่า ขณะนี้ได้มีการดำเนินการแล้ว กว่า 29,000 กว่าคดีและจะดำเนินการให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาบริษัทต่างชาตินอมินี ได้มีการจับแล้ว จำนวน 852 บริษัท มูลค่าความเสียหาย 15,188 ล้านบาท ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องของหลักการในการควบคุมสินค้านั้น อันดับแรกต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และได้ดำเนินการกับสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศเท่าเทียมกันและเหมือนกัน โดยคำนึงถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สินค้าอาหารและยา รวมทั้งฉลากสินค้าบางรายการ เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการระบุวิธีการใช้ ดังนั้น เรื่องฉลากที่ระบุเป็นภาษาไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า การควบคุมสินค้า จะเน้นไปที่สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหากับผู้บริโภค โดยสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจะมีลักษณะต้นทุนที่ต่ำและราคาถูก จึงมีมาตรการระยะสั้นในการนำสินค้าต่าง ๆ เหล่านั้นมาตรวจสอบร่วมกับ อย. หากไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมสินค้าถึงมีต้นทุนต่ำก็จะสั่งยกเลิกการจำหน่ายได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน ส่วนสินค้าที่จำหน่ายทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ผ่านระบบปกติ จะเข้าไปตรวจสอบว่าสินค้าต่าง ๆ เหล่านั้น ถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่ หากไม่มีฉลากหรือใบรับรองมาตรฐาน จะแจ้งให้เจ้าของแพลตฟอร์มถอดสินค้านั้น ออกจากระบบได้ทันที โดยไม่ให้โชว์และไม่อนุญาตให้จำหน่าย ทั้งนี้ การดำเนินการมาตรการดังกล่าว จะทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก หากต้องการมาจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยต้องมาจดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบอย่างถูกต้อง