ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางเข้ายื่นติดตามทวงถาม และให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การคัดเลือกเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการกำจัดมูลฝอย ด้วยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช วงเงินโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ประกาศผลไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยนายศรีสุวรรณระบุว่า จากที่ได้ติดตามโครงการนี้มาตั้งแต่ร่างบันทึกข้อตกลง (ทีโออาร์) ที่ได้เคยยื่นต่อ สตง.ให้เข้าไปตรวจสอบแล้ว 2 ครั้ง จนมาถึงการประกาศผลการคัดเลือกผู้ดำเนินการดังกล่าว พบข้อพิรุธอย่างน้อย 5 ประการ ที่อาจนำไปสู่การเอาผิดผู้บริหาร กทม. ที่อนุมัติและเป็นผู้ลงนามในเอกสารแจ้งผลการประมูลได้ ดังนี้
1. มูลค่าโครงการอาจเข้าข่ายสูงกว่าความเป็นจริง ราคาที่เอกชนผู้ชนะเสนอ ทั้งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ในราคา 5,657.5 ล้านบาท และที่อ่อนนุช ราคา 5,759.7 ล้านบาท ที่ลดจากราคากลาง 800-900 ล้านบาทนั้น อาจเข้าข่ายสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยราชการอื่นๆ ที่ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน นอกจากนั้น เอกชนจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าวันละประมาณ 1.39 ล้านบาทเศษ เท่ากับปีละ 507 ล้านบาท หากสัมปทานอายุ 20 ปี ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าประมาณ 10,152 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 2 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 20,305 ล้านบาท
“นั่นหมายความว่า นอกจากกทม.ต้องจ่ายค่าจ้างกำจัดขยะให้กับเอกชน 1.14 หมื่นล้านบาทแล้ว เอกชนยังมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 20 ปี ชี้ให้เห็นว่าเป็นการเอื้อให้เอกชนแบบสุดๆ ไปเลยด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า 2. กระบวนการอาจขัด พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 เนื่องจากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายโดยกรมบัญชีกลางกำหนดหลายประการ
“ประกาศการแจ้งผลการคัดเลือกฯของ กทม.ลงวันที่ 29 ส.ค.62 ที่ลงนามโดย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการ กทม. จนถึงปัจจุบัน กลับไม่มีประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาในเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ของกรมบัญชีกลาง ตามที่ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ม.66 ได้กำหนดไว้แต่อย่างใด” นายศรีสุวรรณ ระบุ
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า 3.เอกชนผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แห่ง มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงและโดยอ้อมเพราะมีกรรมการของบริษัทบางคนมีชื่อไขว้กันอยู่ ในบริษัททั้งสองแห่ง และมีสถานที่จดทะเบียนตั้งบริษัทอยู่ในที่ทำการเดียวกัน อาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์
4.เอกชนผู้ชนะการเสนอราคาที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช อาจไม่ได้มีผลงานตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ เพราะเพิ่งก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2560 นี้เอง และผลประกอบการขาดทุนมาทุกปี
“ในส่วนของเอกชนผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช นั้น จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 11 ส.ค.60 ก่อนจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคล และทุนจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 และแจ้งเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนเป็น 755 ล้านบาท โดยมีเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการที่ศูนย์หนองแขมถือหุ้นอยู่ด้วย อีกทั้งเมื่อสืบค้นผลประกอบการไม่พบว่ามีการประกอบกิจการใดๆ มีผลขาดทุนทั้งในปี 2560 และในปี 2561 จนมีคำถามว่าเหตุใดจึงมีสิทธิ์เข้าร่วมการประกวดราคา และยังได้เป็นผู้ชนะการเสนอราคาได้ เนื่องจากในรายการด้านเทคนิคได้กำหนดหัวข้อ ประสบการณ์ผู้ยื่นข้อเสนอในการดำเนินการโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน มีคะแนนมากที่สุดถึง 500 คะแนน รวมทั้งน่าสังเกตว่า บริษัทแห่งนี้ เพิ่งเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 755 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ก่อนที่ กทม.จะเปิดการประกวดราคาไม่นานด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า 5.กทม.ทำประชาพิจารณ์แบบสองมาตรฐาน หรือไร้มาตรฐาน เนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ก.ย.62 ที่ผ่านมา กทม.ได้ประกาศร่างทีโออาร์โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย พร้อมบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและของเสียชุมชน มูลค่า 1,423.5 ล้านบาท ผ่านทางระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกำหนดระยะเวลารับฟังคำวิจารณ์ ตั้งแต่วันที่ 3 - 24 ก.ย. 62 รวม 21 วัน ต่างจากโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่หนองแขม และอ่อนนุช วงเงิน 13,140 ล้านบาท ที่ใช้เวลารับฟังข้อวิจารณ์เพียงแค่ 4 วัน เท่านั้น
“จากข้อสังเกตต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งข้อพิรุธในส่วนของทีโออาร์ ที่ได้เคยยื่นต่อ สตง.และ ป.ป.ช.ไปแล้ว จึงเข้ามาติดตามทวงถาม และให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ป.ป.ช. ติดตามตรวจสอบ นอกจากนี้ผมจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อป.ป.ช. เพื่อดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :