อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือ มุมมองผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และผลกระทบจาก (ร่าง) ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ... โดยมี ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เข้าร่วม.
การหารือในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่กลุ่มผู้ประกอบการได้เคยเข้าหารือเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ต่อข้อกังวลของทางสมาคมฯ ต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว ที่ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนกงานคณะกรรมการผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม-7 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยมีข้อกังวลเรื่องการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ที่อัตรา 15% ซึ่งภายหลัง สคบ. ปรับตัวเลขเป็น 20% แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน
และมองว่าภาครัฐอาจเสียผลประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี รวมถึงอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ทำให้กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ ขณะเดียวกันจะสร้างนิสัยให้ผู้บริโภคพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ และเกิดปัญหาสังคมตามมา นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อมาตรการคืนรถจบหนี้ มาตรการให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาด (ติ่งหนี้) และมาตรการให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดในกรณีปิดบัญชี ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการเช่นกัน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ในการช่วยเหลือให้ทุกภาคส่วนอยู่รอดได้อย่างสมดุล ต้องคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ดังนั้น จึงขอให้ทั้งทาง สคบ. และกลุ่มผู้ประกอบการกลับไปทบทวนต้นทุนทางธุรกิจ นำมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศอีกครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน ขอให้ภาคเอกชนเห็นใจประชาชนที่ประสบความยากลำบาก บางคนขาดโอกาสในการดำรงชีวิต เช่น การเป็นเจ้าของยานพาหนะ ซึ่งหากภาคเอกชนเข้าใจส่วนนี้จะเปรียบเสมือนการหยิบยื่นโอกาส ให้พวกเขาสามารถนำไปใช้ดำรงชีวิตได้