ไบเดนเลือกที่จะปรับความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย เพื่อพยายามหาหนทางในการลดราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคะแนนนิยมของไบเดนที่จะลดต่ำลงไปด้วย เนื่องจากประเด็นการฆ่าสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าว The Washington Post ผู้วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย โดยมีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย และผู้มีอำนาจปกครองประเทศตัวจริง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยที่ไบเดนเข้าพบในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ไบเดนได้หยิบยกประเด็นการฆาตกรรมคาช็อกกีขึ้นมาพูดกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะย้ำว่า ตนเองเชื่อว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ดมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว โดยไบเดนย้ำว่า สหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียดำเนินมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองลง และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดเองก็ไม่สามารถเมินหน้าหนีจากความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ ซาอุดีอาระเบียยังคงเป็นเจ้าตลาดการส่งออกน้ำมันโลก ในขณะที่สงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันโลก ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเกิดความผันผวน ไบเดนไม่สามารถเมินหน้าหนีและทำเสมือนกับว่าซาอุดีอาระเบียไม่มีตัวตนต่อตนเองได้อีกต่อไป
ในการเดินทางเยือนอิสราเอลก่อนการเยือนซาอุดีอาระเบีย นอกจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิสราเอลอย่าง ยาอีร์ ลาปิด แล้ว ไบเดนยังได้เดินทางเยือนปาเลสไตน์ เพื่อหวังจะสร้างสมดุลในการเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางในครั้งนี้ แต่ไบเดนกลับทำให้ชาวปาเลสไตน์ผิดหวัง หลังจากที่ตนย้ำว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ “ยังไม่สุกงอม” ในการต่ออายุการเจรจาสันติภาพ
ก่อนหน้านี้ ดัชนีราคาน้ำมันดินเบรนต์พุ่งสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ในราคา 139.13 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,100 บาท) ต่อบาร์เรล เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐฯ เองประสบกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นกว่า 9.1% และกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งกลางสมัยของพรรคเดโมแครตในช่วงเดือน พ.ย. นี้ด้วย ในขณะที่ไบเดนหวังว่า ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นชาติที่มีน้ำมันดิบสำรองมากสุดเป็นอันดับสองของโลกจะสามารถช่วยเหลือตนได้
นอกจากความหวังในเรื่องน้ำมันของสหรัฐฯ แล้ว ในการประชุมคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ที่สหรัฐฯ เข้าร่วมด้วยในเจดดาห์ของซาในอุดีอาระเบีย ไบเดนย้ำกับทางผู้นำของชาติในแถบอ่าวอาหรับว่า สหรัฐฯ จะ “ไม่เดินหนีไป” จากภูมิภาคนี้ “และทิ้งให้เกิดสุญญากาศที่ถูกเติมโดยจีน รัสเซีย หรืออิหร่าน” ในขณะที่สงครามยูเครนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับชาติตะวันออกกกลาง และสเซียเริ่มหันหน้าเข้าหาชาติอาหรับมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั่วโลกต่างมองว่าสหรัฐฯ หันหลังให้กับตะวันออกกลางแล้ว ในขณะที่จีนกับรัสเซียเข้ามาขยายอิทธิพลของตนมากขึ้นเรื่อยๆ การเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางของไบเดนจะคุ้มค่าหรือไม่ โดยถึงแม้ว่าไบเดนจะเดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียแล้ว แต่ซาอุดีอาระเบียเองกลับไม่ได้มีการออกมาประกาศในทางสาธารณะว่าตนจะเพิ่มการผลิตน้ำมันเลย ในขณะที่อิสราเอลยังคงไม่มั่นใจในท่าทีของสหรัฐฯ ที่ถึงแม้ว่าจะย้ำว่าตนจะเสริมความแข็งแกร่งทางพันธมิตรเพื่อตอบรับกับอิหร่าน แต่ก็ยังไม่มีผลลัพทธ์ที่เป็นรูปธรรมใดๆ จากการเดินทางเยือนตะวันออกกลางอย่างเป็นทางการของไบเดนเอง
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2022/07/16/politics/biden-middle-east-trip-takeaways/index.html