ข้อมูลส่วนตัวของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในบางเขตของกรุงเทพมหานครได้หลุดออกสู่สาธารณะ หลังจากที่มีการส่งต่อลิงก์ 'กูเกิลไดรฟ์' เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ระบุว่าเป็น 'รายชื่อบุคคลสำคัญผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เวลา 08.00-17.00 น.' โดยเป็นข้อมูลที่ส่งต่อกันภายในกรุ๊ปไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
'วอยซ์ออนไลน์' ได้รับแจ้งว่ารายชื่อบุคคลสำคัญที่ถูกรวบรวมในเอกสารดังกล่าว มีตั้งแต่ข้าราชการประจำ นักร้อง นักแสดง ศิลปิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งในปีนี้ รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่พบว่าข้อมูลของ 3 เขต ได้แก่ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ปทุมวัน และลาดกระบัง มีรายละเอียดบุคคลเผยแพร่ติดมาด้วย เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน ยศ-ตำแหน่ง-อาชีพปัจจุบัน และเลขลำดับในการออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะถึงนี้
เมื่อสอบถามไปยัง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. วันนี้ (19 มี.ค. 2562) ได้รับคำตอบว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน เพราะไม่มีการรายงาน แต่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเป็นเอกสารที่เผยแพร่ไปจากแหล่งใด และเป็นการเผยแพร่จาก กกต.จริงหรือไม่
ส่วน 'ปราบดา หยุ่น' นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ข้อมูลส่วนบุคคลหลุดออกมาในรายชื่อดังกล่าว เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองอยู่ในรายชื่อบุคคลสำคัญฯ ดังกล่าว และก็ไม่ได้ยินยอมให้นำรายละเอียดส่วนตัวไปเผยแพร่แก่บุคคลอื่นๆ แต่อย่างใด
ขณะที่ 'อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล' ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ซึ่งเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องสิทธิและเสรีภาพอินเทอร์เน็ต เปิดเผยกับวอยซ์ออนไลน์ว่า เลขบัตรประชาชน พร้อมชื่อ-นามสกุล ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงและไม่ซ้ำกันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าข้อมูลที่หลุดออกมาในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งได้ เพราะการใช้สิทธิ์ลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้งต้องมีหลักฐานตัวจริงประกอบ
อาทิตย์ระบุว่า เลขบัตรประจำตัวประชาชนมีโอกาสหลุดไปยังบุคคลอื่นๆ ได้ง่ายอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างกรณีที่จะต้องติดต่อสถานที่ต่างๆ ก็ต้องมีการแลกบัตรประชาชนเอาไว้ ในระหว่างนั้นหากมีผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อเหตุอื่นใดก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่เขาย้ำว่า การที่หน่วยงานรัฐซึ่งมีอำนาจในการขอข้อมูลหรือจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชน แต่กลับไม่ได้เก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวอย่างรัดกุมเพียงพอ ก็เข้าข่าย 'ไม่รับผิดชอบ'
นอกจากนี้ อาทิตย์ยังตั้งคำถามด้วยว่า หากกรณีนี้เกิดจากสื่อมวลชนเป็นฝ่ายขอข้อมูลของบุคคลดังในแวดวงต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ เพื่อไปติดตามรายงานข่าวในวันเลือกตั้ง ก็อาจต้องทบทวนกันในแวดวงสื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: