ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับกัปตัน 14 แห่ง WEVO หรือ เติร์ด รัฐภูมิ เลิศไพจิตร บัณฑิตวิศวะ นานาชาติ จากรั้วแม่โดม ผู้รับตำแหน่งเป็นโฆษกกลุ่มมวลชนอาสา หลังเกิดเหตุการณ์ล้อมจับผู้ก่อตั้งกลุ่ม และสมาชิก โดยหน่วย อรินทราชที่ถืออาวุธครบมือ ไขทุกความสงสัย WEVO คือกองกำลังติดอาวุธจริงหรือ ปฏิบัติการของพวกเขาคืออะไร คนลักษณะใดที่เป็นสมาชิกกลุ่ม พวกเขามองอย่างไรกับแนวทางสันติวิธี และเหตุการณ์ในวันจับกุมเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ช่วงเย็นของวันที่ 6 มี.ค. 2564 มีนัดหมายชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่ประกาศเดินขบวนจาก ห้าแยกลาดพร้าวไปยังศาลอาญา รัชดา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ถูกสั่งขังระหว่างการพิจารณาคดีทางการเมืองทุกคน แต่ระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่หน่วย S.W.A.T. หรือหน่วยอรินทราช ได้เข้าจับกุมสมาชิกกลุ่ม WEVO หรือมวลชนอาสา พร้อมทั้งผู้ก่อตั้งคือ ปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) ที่ลานจอดรถห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ซึ่งห่างจากพื้นที่ชุมนุมไม่ไกล

สิ่งที่ตามหลังจากการควบคุมตัวคือ การตั้งข้อกล่าวหาหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และมาตรา 210 หรือในข้อหาที่เรียกว่า ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ ผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งถูกพาตัวไปยังค่าย ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ขณะที่อีกส่วนถูกพาเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม จนทำให้เกิดการเข้าขัดขวางรถโดยมวลชนที่มาร่วมชุมนุม ถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบจากรัฐว่า เหตุใดจึงขับรถควบคุมตัวผู้ต้องหามาในพื้นที่ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามหลังหยุดรถได้แล้ว ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดเลือกที่จะไม่หลบหนี และเดินทางไปยัง สน.พลโยธินเพื่อเข้ามอบตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถามกลับมาว่า มอบตัวข้อหาอะไร กระนั้นก็ตามท้ายที่สุดพวกเขาก็ถูกตั้งข้อหา ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ ตามมาเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดได้รับการประกันตัว ยกเว้น โตโต้ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเพียงคนเดียว

หลากหลายคำถามเกิดขึ้นในช่วงฝุ่นตลบ ไม่ว่าจะเป็น WEVO คือกองกำลังติดอาวุธจริงหรือ ปฏิบัติการของพวกเขาคืออะไร คนลักษณะใดที่เป็นสมาชิกกลุ่ม พวกเขามองอย่างไรกับแนวทางสันติวิธี และเหตุการณ์ในวันจับกุมเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เรามีโอกาสไปยืนตะโกนถาม โตโต้ ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญา ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา เราถามเขาว่า เมื่อคุณอยู่ข้างใน ใครคือคนข้างนอกที่เราจะสัมภาษณ์ได้ คำตอบเขาคือ ‘กัปตัน 14’

โตโต้ ปิยรัฐ วีโว่ ตำรวจ เทเวศร์ ม็อบ 3D5-B4BE-BC4D6333487C.jpeg


จุดเริ่มต้นของ WEVO จากการ์ดราษฎร สู่กลุ่มปฏิบัติการลับสันติวิธี

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นกลุ่ม WEVO รัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือ เติร์ด โฆษก WEVO (กัปตัน 14) เล่าว่า เดิมทีกลุ่มของโตโต้ มีทีมงานเป็นกลุ่มนักศึกษาใน 3 สถาบันเครือข่าย 3 พระจอม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ต่อมาได้พัฒนามาเป็นกลุ่มมวลชนอาสา หรือ We Volunteer (WEVO) ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์หน้างานมีคนออกชุมนุมจำนวนมากที่สุดนับจากหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา จึงเกิดความคิดในการรวบรวมทีมงานที่จะทำหน้าที่ในส่วนต่างๆ เพื่อดูแล สนับสนุน และจัดการความปลอดภัยในการชุมนุมหลังจากนั้นจึงมีการแบ่งงานกันว่า แต่ละหน่วยจะทำหน้าที่อะไรบ้าง

เมื่อเริ่มเห็นว่าการชุมนุมจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการเปิดรับสมัครบุคคลที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปด้วยกัน ในฐานะคนดูแลความปลอดภัยให้มวลชน โดยมีหน้าที่หลักคือการดูแลมวลชนทำให้คนที่จะมาม็อบรู้สึกว่ามีความปลอดภัย ทำให้เกิดความสบายใจในการออกมาแสดงออก และปฏิบัติหน้าที่นี้เรื่อยมาในการชุมนุมหลายครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

แต่เมื่อเริ่มมีคนหลายกลุ่มเปิดตัวว่าเป็นการ์ดผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น WEVO จึงถอนตัวออกจากการเป็นการ์ดกลุ่มราษฎร เพื่อขยับไปทำงานอื่นๆ ที่ยังไม่มีคนทำ เช่น ออกไปเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเองอย่างการเปิดตลาดขายกุ้ง และชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ในด้านหนึ่งมันก็คือการแสดงให้ดูว่านอกจากการเป็นการ์ด WEVO ยังมีความสามารถในการจัดงานเองได้ด้วย และทุกครั้งการปฏิบัติการของกลุ่มก็วางอยู่ภายใต้หลักการสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่กลุ่ม WEVO ออกมาเคลื่อนไหวเอง มักจะถูกเพ่งเล็งจากรัฐเป็นพิเศษ สาเหตุเป็นเพราะอะไร รัฐภูมิ เห็นว่าเป็นเพราะรัฐไม่สามารถล่วงรู้ข้อมูลของกลุ่มได้ว่าจะมีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะมีการแบ่งชั้นความลับ มีการจัดการระบบอย่างเป็นระเบียบ รัฐต้องการทราบข้อมูล แต่เมื่อไม่สามารถเจาะข้อมูลได้ ก็เกิดความหวาดระแวง และมีความกังวลต่อปฏิบัติการ รัฐจึงพยายามควบคุมกลุ่ม WEVO มากกว่ากลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นๆ

“ส่วนตัวคิดว่าเขาไม่รู้ และเขาต้องการจะรู้ว่า กลุ่มเราจะเคลื่อนไหวอย่างไร มีใครทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าเขาไม่มีข้อมูลตรงนั้น เขาเลยใช้มาตรการที่เด็ดขาดกับเรา แต่ก็มีบางส่วนที่ข้อมูลของเราหลุดไปบ้าง แต่ยังไม่ใช่ข้อมูลที่สำคัญมากนัก มันเลยทำให้รัฐรู้สึกว่าเขาไม่สามารถเขามาแทรกแซงถึงแก่นในของเราได้”

กลุ่ม WEVO คือกลุ่มคนที่มีเจตจำนงคล้ายกันคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ ดังนั้นผลประโยชน์ของเขาคือการพัฒนาประเทศ รัฐจะเสนอผลประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่สามารถซื้อใจเขาเหล่านั้นได้ ฉะนั้นข้อมูลที่เป็นชั้นความลับของเราก็จะไม่หลุดไปให้กับเจ้าหน้าที่ทราบ

ม็อบ - การ์ด - ชุมนุม

รัฐภูมิ เล่าต่อไปว่า ก่อนที่ WEVO จะนับว่าใครเป็นสมาชิกได้นั้น จะต้องมีการกรอกใบสมัคร จากนั้นทีมงานเข้าไปตรวจสอบประวัติ จุดยืน ความคิดเห็นทางการเมือง และอุดมการณ์ของผู้สมัครแต่ละคนก่อน ถัดจากนั้นจะมีการติดต่อประสานไปเพื่อให้เข้าร่วมการอบรม ซึ่งคำว่า อบรม ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึง การอบรมการใช้อาวุธ แต่เป็นไปเพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้จุดประสงค์ของกลุ่มว่าจัดตั้งเพื่ออะไร หนึ่ง คือ การดูแลมวลชน สอง ยึดหลักการทำงานแบบสันติวิธี เน้นการพูดคุยเป็นหลัก และพยายามทำให้ผู้เข้าอบรมแต่ละคนเข้าใจหน้าที่ของตัวเองว่า แต่ละคนมีหน้าที่อะไรในการทำงานชุมนุม โดยจะมีการบริหารจัดการทรัพยากรคนให้ตรงกับงานในแต่ละส่วน พร้อมถามถึงความสมัครใจ

“มันต้องใช้เวลามากขึ้นในการสกรีนคน ผมเลยคิดว่ากลุ่มอื่นอาจจะไม่มีตรงนี้ ทำให้ฝ่ายรัฐได้ส่งตัวแทน หรือส่งสปายของเขาไปเจาะข้อมูลได้ง่าย แต่เรามีขั้นตอนตรงนี้ ยอมเสียเวลาตรงนี้เพื่อคัดคนที่มีประสิทธิภาพจริงๆ เข้ามา และทำให้ฝ่ายรัฐไม่สามารถส่งคนเข้ามาแทรกแซงข้อมูลของเราได้”

การ์ด - ชุมนุม - ม็อบ


แต่งตัวเข้ม เครื่องป้องกันจัดเต็ม เหมือนกองกำลัง ต้องย้อนถามไปที่รัฐว่าจะใช้ความรุนแรงทำไม

รัฐภูมิ เล่าต่อไปถึง ภาพลักษณ์ทั่วไปที่คนภายในมองเห็น WEVO ว่า มีลักษณะการแต่งการที่จัดเต็มสวมชุดคล้ายกับกองกำลังพิเศษ ว่า เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม และภาพเหล่านั้นที่คนทั่วไปมองเห็นก็เป็นเพียงกลุ่มสมาชิกส่วนหนึ่งเท่านั้น

เขายกตัวอย่างถึงตัวเองว่า ทุกครั้งที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม เขาแทบจะไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันอะไรเลย เพราะรู้สึกว่าการสู้กับรัฐที่สรรพวุธเพียบพร้อม เขาในฐานะประชาชนมีเพียงมือเปล่าอยู่แล้ว แต่สำหรับสมาชิกกลุ่มบางคน หรือการ์ดกลุ่มอื่นๆ ต่างก็มีความชอบธรรมที่สวมเครื่องป้องกันตัว เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกยิงด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา หรือสิ่งอื่นๆ และสิ่งที่พวกเขาสวมใส่นั้นไม่ใช่เสื้อเกราะ แต่คือเสื้อเวส ที่นำเอาแผ่นเหล็กที่มีบางกว่าขนาดเหล็กของเสื้อเกราะตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายมาใส่ไว้เพื่อป้องกันกระสุนยาง อย่างไรก็ตามชุดที่พวกเขาสวมใส่ไม่สามารถป้องกันกระสุนจริงได้

“คำถามว่าใส่ทำไม เราก็ต้องถามกลับไปที่รัฐว่า ถ้าที่ผ่านมาคุณไม่ใช้กำลังกับเรา เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องใส่สิ่งเหล่านี้ เราก็เป็นแค่บุคคลธรรมดากลุ่มหนึ่ง แต่งตัวธรรมดา และคอยทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้มวลชนเท่านั้น แต่เมื่อรัฐใช้ความรุนแรง ก็ไม่แปลกอะไรที่จะมีการป้องกันตัวเอง และมันก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร”

ในช่วงหนึ่งมีกระแสในทวิตเตอร์เริ่มพูดว่า WEVO เป็นกลุ่มแนวหน้าที่ชอบเข้าปะทะ และมีการใช้ความรุนแรง รัฐภูมิ อธิบายถึงความเข้าใจนี้ว่า อาจเกิดจากการวางตัวของสมาชิกกลุ่มที่ดูเงียบ สุขุม เข้าถึงยาก และดูเหมือนจะเป็นผู้ใช้ความรุนแรง แต่ในความเป็นจริงแล้ว WEVO ไม่ได้สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และคนส่วนใหญ่ที่มาเป็นสมาชิกก็เป็นคนที่เพิ่งเรียนจบ ส่วนใหญ่ยังเรียนหนังสืออยู่ และทุกคนมีความฝันมีเจตจำนงที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้

“ทุกคนมีความคิดความฝันคล้ายกันว่า การต่อสู้กับรัฐครั้งนี้ คือการต่อสู้โดยแนวทางสันติวิธี คือการปักธงทางความคิด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ดังนั้นทุกคนคิดในใจอยู่แล้วว่า การต่อสู้โดยสันติวิธีของเขา คือหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่ากลุ่มเราก็มีคนหลากหลายที่มารวมตัวกัน บางคนอาจจะรับไม่ได้ที่ถูกรัฐกระทำกับตัวเอง หรือกับเพื่อนของเขา ก็อาจจะแสดงออกในแนวทางที่คนทั่วไปอาจจะมองว่ามันไม่ใช่สันติวิธี ฉะนั้นก็ต้องมาคุยกันว่าสันติวิธีของแต่ละคนมันทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างที่ผ่านมากลุ่มของเราไม่เคยทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง อาจจะมีการป้องกันตัวเองบ้าง และก็ต้องคุยก็ใหม่ว่า การป้องกันตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐนับเป็นสันติวิธีหรือไม่”

ม็อบ 29 พ.ย. บรรยากาศราบ 11


เมื่ออยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้า แล้วมวลชนเริ่มปาขวดน้ำ WEVO อยู่ในฝั่งขอความร่วมมือว่าอย่าปา

เมื่อถามถึงแนวทางปฏิบัติการในสนามการชุมนุม โดยยกสถานการณ์ขึ้นมาเปรียบเทียบ กรณีที่มีการชุมนุมเข้าไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ชุดความคุมฝูงชน แล้วมีมวลชนเริ่มปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ ในสถานการณ์นี้ บทบาทหน้าที่ของ WEVO คืออะไร รัฐภูมิ ตอบว่า อันดับแรกหากสามารถสื่อสารกับผู้ชุมนุมได้ ทีมงานจะพยายามอธิบายว่าการทำอย่างนั้นอาจจะเป็นการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงได้ แม้จะเข้าใจดีว่าการปาขวดน้ำจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อร่างกาย หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บ แต่หากไม่สามารถห้ามได้ก็ต้องยอมรับว่านั่นคือแนวทางการต่อสู้ของแต่ละคนซึ่งอาจจะมีเหตุผลรองรับอยู่เบื้องหลังการกระทำ เช่น การถูกกระทำจากรัฐก่อน

“ห้ามได้เราห้าม ห้ามไม่ได้เราก็ต้องยอมรับว่า การต่อสู้ การเคลื่อนไหวของทุกคนมันไม่มีการจัดตั้ง ทุกคนออกมาด้วยความคิดของตัวเอง ถ้าเราไปห้ามแล้วเขาไม่ฟัง ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิทธิของเขา... ถ้ามันไม่รุนแรงมากขึ้นไปกว่านี้ เพราะยกตัวอย่างว่ามันคือการปาขวดน้ำธรรมดา ส่วนกรณีที่เขาไปห้ามแล้วโดนด่ากลับมาก็มีเยอะมาก ตัวผมเองโดนบ่อย แล้วก็ถูกสวนกลับมาว่า ไอ้สิ่งที่คุณทำ ไอ้สันติของคุณเนี่ย มันช่วยอะไรได้แค่ไหน เราก็ยึดหลักว่า ห้ามได้เราห้าม ถ้าห้ามไม่ได้เราก็ถอยออกมารักษาตัวเราก่อน”


เผยรัฐจับกุมเกิดกว่าเหตุ ยัดข้อหาหนัก ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ เสกหลักฐานที่ตรวจยึดจากพลุควัน เป็นระเบิดควัน

รัฐภูมิ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการจับสมาชิกกุม WEVO และโตโต้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ที่ลานจอดรถของห้างเมเจอร์ รัชโยธินว่า การจับกุม และการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ในวันนั้น ไม่ถือว่าอยู่ในเหตุให้จับกุมซึ่งหน้า เพราะยังไม่มีการกระทำความผิดใดๆ เกิดขึ้น และการจับกุม ตรวจค้นดังกล่าวกระทำไปโดยไม่มีหมายศาลรับรอง

นอกจากนี้การตรวจค้นนั้น ดำเนินไปโดยการที่เจ้าหน้าที่นำกระเป๋าของทุกคนมากองรวมกัน และเปิดค้นดูโดยที่เจ้าของกระเป๋าไม่ได้ได้เห็นการตรวจค้น เพราะทุกคนถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้ทุกคนหมอบก้มหน้าลงไป จึงไม่สามารถตอบได้ว่า สิ่งของต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าตรวจพบ เป็นของใคร เพราะหลักฐานถูกปนเปื้อนไปแล้ว

“แต่ประเด็นสำคัญคือ หากของเหล่านั้นเป็นของเราจริง สิ่งของเหล่านั้นผิดกฎหมายหรือไม่ หนังสติ๊ก น้ำปลาร้า มันผิดกฎหมายอะไร แต่ต้องถามกลับไปว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐนำกลุ่มที่มีจุดประสงค์ในการจับกุมผู้ก่อการร้าย พ่อค้ายาเสพติดที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เข้ามาจับกุมพวกเราขนาดนั้นมันชอบธรรมหรือไม่ สิ่งนี้ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมากกว่าหรือเปล่า คุณบอกว่าเราทำผิดกฎหมาย ก็ต้องย้อนถามไปว่า สิ่งที่คุณทำมันถูกกฎหมายเหรอ”

เขาเล่าด้วยว่า ในเหตุการณ์วันจับกุม ส่วนตัวเขาเองและเพื่อนอีกหลายคนไม่รู้ว่า โตโต้ เข้ามาในพื้นที่ด้วย และเพิ่งทราบตอนเห็นไลฟ์การจับกุม อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่โตโต้จะถูกจับกุม มีสมาชิกกลุ่มถูกจับกุมก่อนหน้านั้นแล้วที่ลานจอดรถชั้น 5 แต่ในชั้น 3 มีการจับกุมโตโต้กับผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน ปัญหาคือ การตั้งข้อกล่าวหาอั้งยี่-ซ่องโจรของเจ้าหน้ารัฐนั้นอ้างเหตุจากชั้น 5 แต่กรณีของโตโต้ที่อยู่ชั้น 3 กลับโดนข้อหานี้ด้วย ทั้งที่การเข้ามาในพื้นที่ของโตโต้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของ WEVO ในวันนั้น

ทั้งนี้รัฐภูมิ เปิดเผยว่า ปฏิบัติการในวันนั้นที่ทางกลุ่มตั้งใจจะทำกันคือ การรอยู่รอบนอกพื้นที่ชุมนุมที่กลุ่ม REDEM นัดหมายกันที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อดูสถานการณ์ หากรัฐเริ่มสลายการชุมนุม หรือเกิดการปะทะใดๆ ก็แล้วแต่ หน้าที่ของกลุ่มในวันนั้นมีเพียงการพาคนออกจากพื้นที่ชุมนุมมาอยู่ที่จุดซึ่งคาดว่าน่าจะปลอดภัย ไม่มีแผนการเข้าปะทะใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ รัฐภูมิ ยังเล่าถึงพฤติการณ์จับกุมว่า เป็นไปโดยการใช้ความรุนแรง มีการใช้ปืนขู่ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ใช้มือตบหน้า ใช้เข่ากดหลัง ใช้ปืนจ่อ แต่ปัญหาหลักคือ การที่เจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ถูกจับกุมคนหนึ่งนั่งคุกเข่า แล้วนำพลุควันยัดเข้าไปในปาก พร้อมก็ถ่ายรูป และพูดว่า “นายเราชอบแบบนี้” มากไปกว่านี้มีสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งถูกท่อนเหล็กที่เรียกว่าดิ้ว สัมผัสที่บั้นท้าย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการตรวจค้น

ส่วนกรณีของพลุควันนั้น รัฐภูมิ ระบุว่า ไม่มีปรากฏในรายการหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้ แต่กลับพบว่ามีการเขียนเพื่อเปลี่ยนสภาพให้ พลุควัน อันละ 20 กว่าบาทที่เด็กๆ เล่นกัน กลายเป็น ระเบิดควัน ซึ่งทำให้ดูเป็นอุปกรณ์ที่รุนแรง

“น้องไม่สมควรที่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ หลายคนยังเป็นแผลในใจ สิ่งที่รัฐทำกับเขามันไม่ได้สัดส่วน  มันเกินความจำเป็นไป มันกลายเป็นความสะใจมากกว่าตัวกฎหมายที่บัญญัติ เหมือนเขาสถาปนาว่าตัวเองคือกฎหมาย โดยที่ไม่สนใจกฎหมายเลย”

หลังจากการมีการจับกุมแล้ว สิ่งที่ตามมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐคือการตั้งข้อหา ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ รัฐภูมิ เผยว่าความรู้สึกในเวลานั้นมีทั้งความตลก แปลกใจ และโกรธ เพราะก่อนหน้านี้เคยได้ยินมาว่าข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร เป็นข้อหาที่ใช้กันมาในอดีต และเป็นกฎหมายที่ล้าหลังไปนานแล้ว แต่กลับถูกนำมาใช้กับกลุ่มพี่น้อง WEVO ในปัจจุบัน

“มองย้อนกลับไปถามว่าตลกไหม ผมว่ามันก็ตลก ที่รัฐเขามองเราได้ขนาดนั้น แต่นี่ก็คงเป็นเพราะรัฐไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเราเลยว่า เราจะทำอะไร มีความลับอะไร ดังนั้นข้อหาอั้งยี่ที่เขายัดให้เรา มันเป็นข้อหาที่รุนแรงเกินไป ไม่สมเหตุผลกับสิ่งที่เราทำ ถามว่าคุณจับเราข้อหาอั้งยี่ ในพื้นที่สาธารณะ แบบนี้มันเรียกอั้งยี่ได้หรืออย่างไร ผมคิดว่าคนที่ตั้งข้อหานี้ควรไปเรียนกฎหมายมาใหม่”

รัฐภูมิ เลิศไพจิตร .JPG


WEVO ไม่ใช่ ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ แต่เป็นพื้นที่รวมความฝันของคนหนุ่มสาว ที่ต่อสู้ตามความถนัดของพวกเขา

รัฐภูมิ ย้ำว่า สมาชิกกลุ่มทุกคนที่โดนดำเนินดคีต่างก็รู้สึกแปลกใจเช่นกัน ที่โดนตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงกว่าเหตุ เพราะหลายคนเป็นแค่กลุ่มเด็กที่มีความฝันอยากเห็นประเทศที่ทุเรศอยู่ในทุกวันนี้ดีขึ้นในอนาคต แต่กลับถูกคนไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คนฉุดรั้งความฝันนั้น และพยายามหยุดพวกเขาด้วยการสร้างข้อกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ความคิด ความเชื่อ และความฝันของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนยังยืนหยัดต่อสู้ในแนวทางของตัวเอง ภายใต้หลักสันติวิธีเช่นเดิม และการที่รัฐสั่งขัง โตโต้ นั้นก็ไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของ WEVO เพราะถึงที่สุดแล้ว “WEVO ไม่ใช่โตโต้เพียงคนเดียว”

“เขาก็ยังต่อสู้ในแนวทางของเขาต่อไป เพื่อความฝันว่าอยากเห็นประเทศนี้มันดีขึ้น สมาชิกกลุ่มเรามีหลากหลายมากเลย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเรียนอยู่ และก็อาชีพที่เข้่ามามีเยอะมา มีทั้งเป็นคุณหมอก็มี ช่างสักก็มี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็มี พวกวิศวกร ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิคซาวด์เอนจิเนียร์ ก็มีมาหมดเลย พอเขาเข้ามาสมัคร ก็ระบุว่าเขามีความสามารถอะไร ทำอาชีพอะไร พอเราเห็นเราก็จับคนพวกนี้ไปอยู่ในสถานะที่เขามีประโยชน์ เขาสามารถทำได้ อย่างเช่น รถโมบายที่เราเห็น ก็มาจากฝีมือของคนพวกนี้ทั้งนั้นแหละ มาทำเสียงเอง มาปรับแต่ง ในความชอบของเขา เขาทำด้วยความชอบของเขา และที่สำคัญคือ พี่โต้ก็ให้โอกาสเขาทำ ไม่ได้ขัดขวางว่าสิ่งที่คุณทำมันไม่ดีนะ ให้อิสระไปเลย คุณอยากปรับแต่งรถยังไงให้มันดีขึ้น คุณอยากเปลี่ยนอุปกรณ์แบบนี้ ให้มันมีประโยชน์อย่างไรให้มันสูงขึ้น ให้อิสระไปเลย อย่างผมก็เป็นคนชอบพูดคุยกับผู้คน พี่โต้ก็บอกว่า "อ่ะ คุณไปเป็นโฆษก คุณไปประสานงานกับกลุ่มอาสาพยาบาลนะ" อย่างผมเป็นทีมเสนารักษ์ด้วย ก็จะไปประสานงานกับกลุ่มพี่แหวนว่า ถ้ามีการชุมนุมที่นี่ รถพี่เเหวนอยู่ตรงไหน หน่วยพยาบาลอยู่ตรงไหน คนหลายคนก็จะทำหน้าที่ในฟังก์ชันของเขาไป”