งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า ภายในปี 2583 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าจะมีขยะพลาสติกทั้งบนบกและในน้ำประมาณ 1,300 ล้านตัน โดยเป็นการประเมินจากแนวโน้มการใช้งานพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันรวมถึงพฤติกรรมการใช้งานพลาสติกประเภทใช้ซ้ำและพลาสติกรีไซเคิล
ในงานวิจัยระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา ทั่วโลกผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีดังกล่าวมีการผลิตพลาสติกทั่วโลกเพียงแค่ 2 ล้านตัน ต่อมาในปี 2560 ปริมาณพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 348 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าภายในปี 2583
นอกจากนี้หากทั่วโลกยังไม่แก้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกจะทำให้ภายในปี 2583 จะมีขยะพลาสติกสะสมอยู่ในมหาสมุทรกว่า 600 ล้านตัน ซึ่งจะมีน้ำหนักเท่ากับวาฬสีน้ำเงินถึง 3 ล้านตัว เนื่องจากทุกวันนี้ปริมาณพลาสติกที่สะสมในทะเลนั้นเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีจาก 11 ล้านตันถึง 29 ล้านตัน
ขณะที่รายงานของสมาคมขยะนานาชาติระบุว่า ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้งานพลาสติกประเภทใช้งานครั้งเดียวทิ้งนั้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและถุงมือยาง ขณะที่ทั่วโลกก็มีการใช้งานบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกเพิ่มขึ้นมาจากการสั่งอาหารออนไลน์และเดลิเวอรี และมีการพบว่าพลาสติกจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนี้ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทร ชายฝั่ง รวมถึงในพื้นที่อื่นๆ เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง
เปลี่ยนพฤติกรรมลดขยะพลาสติกได้ 80 เปอร์เซ็นต์
'วินนี่ ลัว' นักวิจัยจาก Pew Charitable Trusts เสนอโมเดลของการกำจัดและลดขยะพลาสติกทั่วโลก โดยชี้ว่าหากปฏิบัติตามโมเดลดังกล่าวจะสามารถลดปัญหาขยะพลาสติกได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวิธีการที่ทางทีมวิจัยเสนอนั้นได้แก่
ทางทีมวิจัยระบุว่า หากมีการปฏิบัติตามมาตรการที่ทางทีมเสนอนั้นจะสามารถลดขยะพลาสติกลดลงเหลือ 710 ล้านตันในอีก 20 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยย้ำว่า วิธีการเดียวที่จะทำให้ลดพลาสติกได้คือ ทั่วโลกต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาการใช้พลาสติก ด้วยการลดการใช้พลาสติก เพิ่มอัตราพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พัฒนาคุณภาพการรีไซเคิลขยะรวมถึงการสร้างระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการลดและจัดการขยะนี้
"นี่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา แต่นี้คือปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข" ดร.เจมส์ พาลาร์ดี้ หนึ่งในนักวิจัยกล่าว