วันที่ 9 ต.ค. ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานในการประชุม ในช่วงหนึ่งประธานได้แจ้งกับที่ประชุมว่า อัยการขออนุญาตออกหมายเรียกตัวสมาชิกสภาวุฒิสภาไปทำการสอบสวน ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ตามมามาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ
ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ขออนุญาตออกหมายเรียกตัว อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกสภาวุฒิสภา (สว.) ไปทำการสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในคดีว่าด้วยยาเสพติด
โดยมาตรา 125 วรรค 1 บัญญัติว่า ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับกุม คุมขัง หรือเรียกตัวสมาชิกไปสอบสวน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาฯ ที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะทำความผิด ในการนี้จึงต้องได้รับการอนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภาโดยการลงมติ
จากนั้น อุปกิต จึงได้อภิปรายต่อที่ประชุม ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยดำรงความยุติธรรมของตนเอง ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม จนได้รับความทุกข์ทรมานมากกว่าหนึ่งปี เนื่องจากคนรู้จัก รวมถึงลูกเขยได้ถูกจับกุม เมื่อเดือน ก.ย. 2565 พร้อมยืนยันในความบริสุทธิ์ เพราะก่อนมาเป็น สว. ได้สละชื่อออกจากกรรมการหุ้นส่วนจากบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
อุปกิต กล่าวว่า ตลอด 15 ปี ที่ได้ทำการซื้อขายไฟที่ด่านพม่า อ.ท่าขี้เหล็ก ไม่เคยพบปัญหา จนกระทั่งปี 2563-2565 ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ด่านชายแดนปิด ทุน มิน ลัต ได้เข้ามาทำการซื้อขายต่อ และโอนเงินผ่านระบบ Money Changers ซึ่งเป็นวิธีปกติในการซื้อขายชายแดน อย่างไรก็ตาม พนักงานสืบสวนนครบาลกลับเร่งกล่าวหาว่าเส้นทางการเงินที่โอนไปยังการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย มีความเกี่ยวกับพันยาเสพติด ทั้งที่เป็นเพียงการโอนเงินชำระบิลค่าไฟ
เมื่อเดือน ก.พ. 2566 รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายกล่าวหาปรักปรำตนเองอย่างร้ายแรง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ โดยนายตำรวจที่ส่งข้อมูลให้ รังสิมันต์ ก็จงใจแปลงหลักฐานที่เป็นเท็จส่งให้กับศาล ในการจะออกหมายจับตนเอง
อุปกิต ชี้ให้เห็นว่า รังสิมันต์ ได้พาดพิงอธิบดีและผู้พิพากษาให้เกิดความเสียหาย สะท้อนว่ามีความพยายามด้อยค่ากระบวนการยุติธรรมด้วย รวมถึงการออกหมายจับตนเอง ก็ไม่ชอบธรรม อะไรผิดระเบียบ ถ้าเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับตามอำเภอใจได้ ก็สามารถกลั่นแกล้งใครก็ได้ วันหนึ่งสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมนี้ก็สามารถโดนเหมือนตนเองได้
ทั้งนี้ อุปกิตยังกล่าวว่า ในระหว่างสมัยประชุม ตนเองได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง แม้ตนเองประสงค์จะสละเอกสิทธิ์นี้ก็ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ที่ประชุมวุฒิสภา ว่าจะลงมติอนุญาตให้มีการออกหมายเรียกต่างๆ หรือไม่ และได้แสดงเจตนาว่าพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้หมดสมัยประชุมในสิ้นเดือนนี้ เพราะไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์วุฒิสภาของพวกเราในทางที่เสียหาย
อุปกิต ยังกล่าวต่อไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ว่า เพื่อเป็นการรักษาเกียรติของครอบครัว ตนเองพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ตนเองยังเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นที่จะได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด
หลังจากนั้น สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง แสดงความเห็นว่าการออกหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นสามารถทำได้ในสมัยประชุมหรือไม่ และเป็นการแทรกแซงระบบนิติบัญญัติหรือไม่ ก่อนที่จะมีการลงมติ
จากนั้น ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 174 :7 เสียง ไม่อนุญาตให้มีการออกหมายเรียกตัว และส่งตัว อุปกิต ปาจีรยางกูร ไปทำการสอบสวน ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ระหว่างสมัยประชุม งดออกเสียง 10 เสียง ในจำนวนผู้ลงมติ 191 เสียง