วันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... พร้อมคณะ แถลงผลการดำเนินงานของ กมธ.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งคณะ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยระบุว่า กมธ. จะนำรายงานของ กมธ.กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร และจะขอให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมาชิกฯ ได้พิจารณาก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภานี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นความต้องการที่จะป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกอุ้มไปทรมาน โดยหากมีการจับกุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบ อาทิ อัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่ และต้องมีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการใช้กำลัง ทรมาน หรือนำไปในที่อื่น ๆ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่กระทำตามที่กำหนดนี้จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งยังมีมาตรการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้อำนาจทั้งฝ่ายปกครอง อัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการสืบสวน สอบสวนคดีได้ทันทีเพื่อป้องกันการบิดเบือนทำลายหลักฐานก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปหรือก่อนที่พยานจะถูกบิดเบือนด้วยอิทธิพลหรือผลประโยชน์
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการซึ่งจะมีตัวแทนของผู้เสียหายร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและการตรวจสอบต่าง ๆ อีกทั้งยังกำหนดให้มีการตามหาผู้ที่ถูกอุ้มหายไปก่อนหน้าจนกว่าจะพบ
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อระบบกฎหมายไทย และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมทั้งยังเป็นหลักประกันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความดี และเป็นหลักประกันให้กับบุคคลที่ถูกกระทำ เป็นเหยื่อของการอุ้มหายและทรมาน และถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์