องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน "นวดไทย" เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) หลังอยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้คน และยังเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมเด่นที่เป็นกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าว The Guardian ระบุว่า ต้นกำเนิดของการนวดไทยนั้นเริ่มมาจากประเทศอินเดีย ก่อนจะเผยแพร่มายังประเทศไทยโดยแพทย์และพระสงฆ์เมื่อราว 2,500 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อมีการเปิดโรงเรียนสอนการนวดไทยอย่างจริงจังในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจากทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ต้องการเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ
"การที่นวดไทยถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโกถือเป็นประเด็นใหญ่ระดับประวัติศาสตร์ และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะสนับสนุนธุรกิจการนวดไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ" ตัวแทนจากประเทศไทยกล่าวระหว่างการเข้าร่วมงานการประชุมยูเนสโก ณ กรุงโบโกตาของโคลอมเบีย
ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งตรงกับศตวรรษที่ 1900 ผู้มีความรู้ด้านการนวดไทยได้จารึกข้อมูลต่างๆ ไว้บนหินที่อยู่ในวัดโพธิ์ หนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดในการเผยแพร่ความรู้ด้านการนวดไทยมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันมีผู้ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนการนวดไทยจากโรงเรียนสอนการนวดไทยที่วัดโพธิ์ไปแล้วอย่างน้อย 200,000 คน และกระจายตัวทำงานอยู่ใน 145 ประเทศทั่วโลกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนนี้มีในปี 1962
ปัจจุบัน หมอนวดที่ทำงานอยู่ในสปาระดับไฮเอ็นในประเทศไทยสามารถสร้างรายได้ได้ราวชั่วโมงละ 3,000 บาท และอาจมากขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัวเมื่อเป็นสปาระดับไฮเอ็นที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และฮ่องกง
ขณะที่ตามร้านนวดเล็กๆ ในกรุงเทพฯ อาจจะราคาย่อมเยาว์ได้มากถึง 150-200 บาทต่อชั่วโมง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและความชำนาญเฉพาะตัว เพราะการนวดไทยคือศิลปะที่มีความยาก และมีเทคนิคที่ซับซ้อน ละเอียด และเฉพาะเจาะจง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :