วันที่ 20 ก.ย. 2565 เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านกฎหมาย เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง การขาดคุณสมบัติและความไม่สมบูรณ์ของความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ (บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด)ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเลขาธิการ กสทช.
เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาดีลควบรวม ทรูและดีแทค อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดนั้น ตนยังไม่เคยเห็นการชี้แจง จากคณะกรรมการ กสทช. ในประเด็นเรื่องที่ปรึกษาอิสระ (บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) ซึ่งตนมีข้อสงสัยและท้วงติงในประเด็นดังกล่าว
เนื่องจาก ในวรรคท้ายของ ข้อ 10. ในประกาศปี 2561 กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลรวมธุรกิจในกิจการ บัญญัติให้ “เลขาธิการ กสทช. แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตามภาคผนวก ท้ายประกาศนี้ ในการจัดทําความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจ” และ ตามภาคผนวก ที่ปรึกษาอิสระต้อง “มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่รวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว” และ ในข้อ 2.2 “ไม่ได้ถูกถือหุ้นโดยผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต หรือ บริษัทในกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต หรือบริษัทในเครือของผู้รับใบอนุญาต หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งกับ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต” แต่มีข้อเท็จจริงปรากฎดังนี้
บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระ ที่ผู้ขอควบรวม เป็นผู้ส่งชื่อมาให้ กสทช. แต่งตั้งมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา โดย บล.ฟินันซ่า มีความเกี่ยวข้อง และมีส่วนได้ส่วนเสียกับ ผู้มีอำนาจควบคุม กรรมการ ของทรูที่เป็นผู้ขอควบรวม คือ บล.ฟินันซ่า ถือหุ้นทั้งหมด 100% โดย บล.ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (บล. เอฟเอสเอส) ซึ่งบล. เอฟเอสเอส มีบล.ฟินันเซีย ไซรัส ถือหุ้นอยู่ 89.99% ซึ่ง บล.ฟินันเซีย ไซรัส มี ชวัล เจียรวนนท์ ถือหุ้นอยู่ 1.63% โดยมีชัชวาล เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นบิดาของชวัล เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และชัชวาล เจียรวนนท์ ก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารในทรูหรือผู้ขอควบรวมด้วย
ดังนั้น บล.ฟินันซ่า จึงขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นอิสระ ไม่สามารถทำหน้าที่ ที่ปรึกษาอิสระ ที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของกสทช. ได้ ตามประกาศการรวมธุรกิจ ปี 2561 เพราะเนื่อง ชัชวาล เป็นประธานกรรมการของบริษัทที่ถือหุ้นทางอ้อมอยู่ใน บล.ฟินันซ่าถึง 89.99% ก็ย่อมจะเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ กสทช. ในเรื่องการควบรวมที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ควบรวมธุรกิจ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูกับดีแทค ของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ส่งผลการศึกษาและข้อเสนอให้นายกฯ ชะลอการควบรวมนี้ไว้ก่อน โดยผลการศึกษา พบว่า คุณสมบัติของที่ปรึกษานั้น อาจไม่มีความเป็นอิสระจริง รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ ซึ่งกรรมาธิการได้ทักท้วงต่อตัวแทน กสทช. ที่เข้าร่วมประชุมแล้ว แต่ กสทช. ไม่ได้ชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัยหรือดำเนินการเรื่องนี้แต่อย่างใด
ขั้นตอนการทำงานของที่ปรึกษาอิสระกับสำนักงาน กสทช. พบว่า บล.ฟินันซ่า ที่แต่งตั้งขึ้นมานั้น ซึ่งโดยปกติก็จะต้องทำงานศึกษา หาข้อมูล ให้ความเห็นต่างๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้แต่งตั้งแจ้งให้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเมื่อ บล.ฟินันซ่า ส่งรายงานความเห็นของตนให้สำนักงาน กสทช. พิจารณา แต่สำนักงาน กสทช. เห็นว่าข้อมูลบางประเด็นยังไม่ครบถ้วนขอให้ศึกษาเพิ่มเติม มิฉะนั้นจะเป็นรายงานที่ไม่สมบูรณ์แต่ บล.ฟินันซ่า กลับปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ แม้สำนักงาน กสทช. จะแจ้งให้ทรูและดีแทค ทราบแล้วก็ตาม จนกระทั่ง ด้วยความเอื้อเฟื้อของสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ดีลนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ สำนักงาน กสทช. จึงเป็นผู้ลงมือศึกษาและจัดทำรายงานเพิ่มเติมขึ้นมาเองแทนที่จะเป็นที่ปรึกษาอิสระเป็นผู้ทำ ด้วยเหตุนี้ กสทช. ย่อมไม่สามารถนำรายงานดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาได้ ต้องให้ที่ปรึกษาอิสระเป็นผู้ทำเพิ่มเติมมา มิฉะนั้น จะเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้อง และไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่ประกาศฯ กำหนดไว้
ตามที่ คณะกรรมการ กสทช. ได้มีการทำเรื่องหารือถึงอำนาจหน้าที่ของตนต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นครั้งที่สอง ตนเห็นว่า กสทช. เป็นองค์กรที่มีอิสระในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 อีกทั้ง ตามระเบียบของ คณะกรรมการกฤษฎีกาเอง ก็ได้ระบุชัดเจนว่ามีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาข้อกฎหมายแก่หน่วยงานราชการที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเท่านั้น ดังนั้น ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่ผูกพันคณะกรรมการ กสทช. เพราะขัดต่อการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระของคณะกรรมการ กสทช. เป็นเหตุให้คณะกรรมการ กสทช. ไม่สามารถใช้เพื่ออ้างอิงในการพิจารณาใดๆ ได้
เอกชัย ไชยนุวัติ กล่าวปิดท้ายว่า ขอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณายกเลิกการแต่งตั้งบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบการควบรวมในครั้งนี้ และดำเนินการให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศเรื่องมาตรการควบรวมปี 2561 ซึ่งเป็นอิสระอย่างแท้จริง ปราศจากการแทรกแซงหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มบริษัทของผู้ขอควบรวม