ออกไปข้างนอกก็กังวลโควิด-19 แต่ถึงอยู่บ้านก็ประมาทไม่ได้กับโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะ “ไข้เลือดออก” เพราะตอนนี้เข้าหน้าฝน ยุงชุม จนมีข่าวคุณหมอออกมาให้ความเห็นว่าโควิด-19 ส่งผลให้เด็กๆ ป่วยไข้เลือดออกมากขึ้น เพราะน้องอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน กลายเป็นลาภปากยุง
วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน แต่ “ยุง” ยังเป็นพาหะนำโรคอีกหลายอย่าง เช่น โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้ซิก้า เรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ในครัวเรือน แต่ก่อนที่พิษภัยของยุงจะได้รับการกล่าวขวัญถึงขนาดนี้ บรรพบุรุษของเราก็เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา เพิ่งจะมี New Normal หรือรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่กับยุงเมื่อร้อยกว่าปีมานี้นี่เอง
ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์มีตอนที่หนุมานฝ่าด่านไปช่วยพระรามที่เมืองบาดาล ด่านที่อ่านไปแล้วรู้สึกขนลุกตามก็คือ “ด่านยุงตัวเท่าแม่ไก่” เพราะในบทบรรยายเห็นภาพว่ายุงมาเป็นฝูง แถมแต่ละตัวกระเหี้ยนกระหือรือหิวเลือดสุดๆ
บัดนั้น จึ่งฝูงยุงใหญ่ใจหาญ
โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล บินทะยานเข้ากลุ้มรุมตี
สำเนียงเสียงร้องก้องอากาศ หมายมาดกินเลือดกระบี่ศรี
จู่โจมโถมเข้าราวี ทั่วทั้งอินทรีย์วานร
ในบทนี้ยุงอันตรายเพราะตัวมันใหญ่เท่าแม่ไก่ ดูดทีเลือดอาจหมดตัว แต่สำหรับยุงไซส์ปกติในโลกความเป็นจริงแล้ว คนโบราณอาจไม่ได้มองว่าอันตรายขนาดนั้น แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิต
เช่น ครูสุนทรภู่ แต่งนิราศเมืองเพ็ชร ตอนเดินทางไปถึงคลองสุนัขหอน ย่านนั้นอยู่กันเป็นเรือนแพหนาแน่นพื้นเป็นเลนข้นคลั่ก ด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้ยุงชุมอย่างช่วยไม่ได้ ผู้มาเยือนต้องตบยุงกันมือเป็นระวิง “ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ”
หรือแม้แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวา ขณะประทับที่เมืองโซโล ก็ยังต้องรบกับยุงถึงขนาดว่า “นอนไม่หลับจนสว่างเพราะเมื่อยร้อนและยุงกัด”
จะเห็นได้ว่าผู้คนแต่ก่อนเขากลัวยุงเพราะกัดแล้วคันยิบน่ารำคาญ แถมเกาไปเกามาอาจเป็นรอยด่างแดงเสียโฉมไปอีก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีทัศนะว่ายุงเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมากมาย เพราะมูลเหตุของโรคต่างๆ ในอดีตมักถูกเอาไปเชื่อมโยงกับการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ วิญญาณ ภูติผี ดังนั้น การป้องกันยุงไม่ว่าจะเป็นการสุมควัน นอนกางมุ้ง พัดโบก หรือตบปลิดชีพ จึงเป็นไปเพื่อลดความรำคาญใจกับปรสิตดูดเลือดเท่านั้น ไม่ใช่การป้องกันชีวิต
แต่ความคิดของเราที่มีต่อยุงเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อราวรัชกาลที่ 5 เพราะหมอฝรั่งได้ล้มทฤษฎีโรคมาจากภูติผีด้วยการเสนอความรู้ใหม่ ว่าโรคภัยต่างๆ มาจากเชื้อโรคที่มองไม่เห็น และ “ยุง” เป็นหนึ่งในพาหะให้เชื้อโรค
ทั้งนี้ ยุงเริ่มได้รับการกล่าวถึงในรายงานประจำปีของแพทย์สุขาภิบาล รศ.122 (พ.ศ. 2446) หรือเมื่อ 117 ปีก่อน โดย ดร. ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต (Huge Campbell Highet) ระบุว่าในสยามมียุงอยู่ 2 ชนิด คือ ยุงบ้าน และยุงตามทุ่งนาป่าเขาซึ่งเป็นพาหะมาลาเรีย แต่ถึงอย่างนั้นคุณหมอก็ยังเสนอให้กำจัดยุงในพระนคร ด้วยการนำน้ำมันขี้โล้ไปใส่ตามแอ่งน้ำ และให้ประชาชนทำลายเศษถ้วยชามน้ำขัง เพื่อไม่ให้ยุงมาไข่กลายเป็นลูกน้ำ [1] อาจบอกได้ว่านี่เป็นมาตรฐานชีวิตแบบใหม่ที่เรามีต่อยุงสยามเป็นครั้งแรก
สัตว์เล็กๆ บินไปบินมาน่ารำคาญอย่างยุง กลายร่างเป็นสัตว์ร้ายคุกคามความมั่นคงอย่างเด่นชัดมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อมีการออกเอกสารสาธารณสุขพิเศษอันดับที่ 23 (23 ตุลาคม พ.ศ.2467) “ปัญหาเรื่องยุง” ซึ่งเอกสารชิ้นนี้ระบุว่ายุงเป็นสาเหตุทั้งไข้จับสั่น ไข้เหลือง ไข้ส่า โดยเฉพาะไข้จับสั่นนั้นได้ตัดทอนกำลังคนในการทำงานอย่างมาก
จนเมื่อถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเริ่มมีการต่อสู้กับยุงอย่างจริงจัง โดยมีการออกพระราชบัญญัติไข้จับสั่น พ.ศ.2485 ประกาศศัตรูกับยุงก้นปล่องและทายาทอย่างชัดเจน ถึงขนาดให้อำนาจเจ้าพนักงานสาธารณสุขว่า ถ้าเห็นลำเหมือง รางระบายน้ำ และคู มีมากเกินก็สามารถสั่งปิดให้แห้งชั่วคราว หรือจะเอาดินถมเลิกใช้ไปเลยก็ได้
*************
[1] ทวีศักดิ์ เผือกสม, เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้าที่ 101-102.